10 อันดับ จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย



จังหวัด เป็นเขตบริหารราชการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 77 จังหวัด (ถ้ารวมกรุงเทพมหานคร) จังหวัดถือเป็นระดับการปกครองของรัฐบาลลำดับแรก โดยเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอเข้าด้วยกัน ในแต่ละจังหวัดจะปกครองด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด และในแต่ละจังหวัดจะมีพื้นที่ใหญ่และเล็กไม่เท่ากัน วันนี้โลกมีดีจะพาไปดูจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกันว่ามีจังหวัดใดบ้าง พื้นที่เท่าไร



อันดับที่ 1 นครราชสีมา (Nakhon Ratchasima) - พื้นที่ 20,493.964 ตารางกิโลเมตร


       นครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อ โคราช เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช ห่างจากกรุงเทพ 259 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 20,493.964 ตารางกิโลเมตร (12,808,728 ไร่) เป็นพื้นที่ป่าไม้ 2,297,735 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานร้อยละ 61.4 และเป็นแหล่งน้ำ 280,313 ไร่ ทิศเหนือติดกับจังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น ทิศใต้ติดกับจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสระบุรี ชัยภูมิ และลพบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 150-300 เมตร มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวยาวทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนบริเวณตอนล่างค่อนไปทางเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม โดยมีลำตะคองและลำน้ำสาขาอื่น ๆ ไหลหล่อเลี้ยงบริเวณด้านเหนือของเมือง และ เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


อันดับที่ 2 เชียงใหม่ (Chiang Mai) - พื้นที่ 20,107.057 ตารางกิโลเมตร


       เชียงใหม่ เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีประชากร 1,678,284 คน มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ จังหวัดเชียงใหม่แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ โดยมีอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด เชียงใหม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาแต่โบราณ มี "คำเมือง" เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรม และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก จังหวัดเชียงใหม่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 310 เมตร ส่วนกว้างจากทิศตะวันตกจรดทิศตะวันออกประมาณ 138 กิโลเมตร ส่วนยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ประมาณ 428 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 696 กิโลเมตร ทิศเหนือติดกับรัฐฉานของประเทศพม่า โดยมีดอยผีปันน้ำของดอยคำ ดอยปกกลา ดอยหลักแต่ง ดอยถ้ำป่อง ดอยถ้วย ดอยผาวอก และดอยอ่างขางอันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว เป็นเส้นกั้นอาณาเขต ทิศใต้ติดกับอำเภอสามเงา อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง (จังหวัดตาก) มีร่องน้ำแม่ตื่นและดอยผีปันน้ำ ดอยเรี่ยม ดอยหลวงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า (จังหวัดเชียงราย) อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองลำปาง (จังหวัดลำปาง) อำเภอบ้านธิ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอลี้ (จังหวัดลำพูน) ส่วนที่ติดจังหวัดเชียงรายและลำปางมีร่องน้ำลึกของแม่น้ำกก สันปันน้ำดอยซาง ดอยหลุมข้าว ดอยแม่วัวน้อย ดอยวังผา และดอยแม่โตเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ส่วนที่ติดจังหวัดลำพูนมีดอยขุนห้วยหละ ดอยช้างสูง และร่องน้ำแม่ปิงเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ทิศตะวันตกติดกับอำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) มีดอยผีปันน้ำ ดอยกิ่วแดง ดอยแปรเมือง ดอยแม่ยะ ดอยอังเกตุ ดอยแม่สุรินทร์ ดอยขุนยวม ดอยหลวง และร่องแม่ริด แม่ออย และดอยผีปันน้ำดอยขุนแม่ตื่นเป็นเส้นกั้นอาณาเขต


อันดับที่ 3 กาญจนบุรี (Kanchanaburi) - พื้นที่ 19,483.148 ตารางกิโลเมตร


       จังหวัดกาญจนบุรี ลักษณะทางภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นป่า ซึ่งจะมีทั้งป่าดงดิบและป่าโปร่ง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 19,473 ตารางกิโลเมตร มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 129 กิโลเมตร มีชายแดนติดกับสาธารณรัฐสหภาพพม่าระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ทิศเหนือติดกับจังหวัดตากและจังหวัดอุทัยธานี ทิศใต้ติดกับจังหวัดราชบุรี ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม ทิศตะวันตกติดกับสาธารณรัฐสหภาพพม่า กาญจนบุรี คือดินแดนแห่งธรรมชาติ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยผืนป่า พรรณไม้ โถงถ้ำ น้ำตก และประเพณีวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนหลากเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี ทั้งไทย พม่า มอญ ปากะญอ (กะเหรี่ยง) ฯลฯ กาญจนบุรียังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีอนุสรณสถานหลายแห่งปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน เช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานทหารสัมพันธมิตร พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด ฯลฯ


อันดับที่ 4 ตาก (Tak) - พื้นที่ 16,406.650 ตารางกิโลเมตร


       ตาก เป็นจังหวัดในภาคตะวันตกหรือบางแห่งจัดอยู่ในภาคเหนือตอนล่างของไทย มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ แต่มีประชากรเบาบางที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด เป็นจังหวัดชายแดนที่สำคัญอีกจังหวัดหนึ่งของไทย มีประวัติศาสตร์เก่าแก่นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่งดงามหลายแห่งด้วย นอกจากนี้จังหวัดตากยังเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดอื่น ๆ ถึง 9 จังหวัด ดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ทิศใต้ติดกับจังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันตกติดกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า โดยมีแม่น้ำสายสำคัญแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าคือ แม่น้ำเมย


อันดับที่ 5 อุบลราชธานี (Ubon Ratchathani) - พื้นที่ 15,774.000 ตารางกิโลเมตร


       อุบลราชธานี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 200 ปี มีพื้นที่กว้างใหญ่ ภายหลังถูกแบ่งออกเป็นจังหวัดใหม่คือจังหวัดยโสธรในปี พ.ศ. 2515 และจังหวัดอำนาจเจริญในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งถ้ารวมพื้นที่อีก 2 จังหวัดที่แยกออกไป จังหวัดอุบลราชธานีจะมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 68 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่สูงต่ำ เป็นที่ราบสูงลาดเอียงไปทางตะวันออกมีแม่น้ำโขง เป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งไหลผ่านกลางจังหวัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม และมีลำน้ำใหญ่ ๆ อีกหลายสาย ได้แก่ ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และมีภูเขาสลับซับซ้อนหลายแห่งทางบริเวณชายแดนตอนใต้ ที่สำคัญคือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา อุบลราชธานีมีอาณาเขตติดกับจังหวัดใกล้เคียง โดย ทิศเหนือติดกับจังหวัดอำนาจเจริญและประเทศลาว ทิศตะวันออกติดกับแขวงจำปาศักดิ์ (ประเทศลาว) โดยพรมแดนบางช่วงใช้แม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนด ทิศใต้ติดกับจังหวัดพระวิหาร (ประเทศกัมพูชา ) ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธร แนวพรมแดนติดกับประเทศลาวและกัมพูชารวมความยาวประมาณ 428 กิโลเมตร ติดกับประเทศลาว 361 กิโลเมตร (จากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอน้ำยืน ติดต่อกับแขวงสุวรรณเขต แขวงสาระวัน และแขวงจำปาศักดิ์) ติดกับประเทศกัมพูชา 67 กิโลเมตร (อำเภอน้ำยืน ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา)


อันดับที่ 6 สุราษฎร์ธานี (Surat Thani) - พื้นที่ 12,891.469 ตารางกิโลเมตร


       สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ และมีประชากรหนาแน่นอันดับ 59 ของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง สุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของภาคใต้ มีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งที่ราบสูง ภูมิประเทศแบบภูเขา รวมทั้งที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงในบริเวณอ่าวไทย ทั้งบริเวณที่เป็นทะเลและเป็นเกาะ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีจำนวนเกาะในเขตพื้นที่จังหวัดมากถึง 108 เกาะ นับว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองมาจากจังหวัดพังงาที่มี 155 เกาะ และจังหวัดภูเก็ตที่มี 154 เกาะ ทิศเหนือติดกับจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพรและอ่าวไทย ทิศใต้ติดกับจังหวัดกระบี่และจังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดพังงา โดยทะเลฝั่งอ่าวไทยนั้นมีชายฝั่งยาวประมาณ 156 กิโลเมตร โดยมีเกาะที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของจังหวัดฯ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และหมู่เกาะอ่างทองและยังมีเกาะน้อยใหญ่อีกมากมาย จึงได้ชื่อว่าเมืองร้อยเกาะ เช่นเกาะนางยวน


อันดับที่ 7 ชัยภูมิ (Chaiyaphum) - พื้นที่ 12,778.287 ตารางกิโลเมตร


       ชัยภูมิ เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดชัยภูมิขึ้นเป็นทางการ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 3 เมือง คือ เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว เมืองในจังหวัดชัยภูมิ จึงเข้าอยู่ในมณฑลนครราชสีมา ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบเมืองทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็นจังหวัดแทน เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) จึงรวมกันกลายเป็นจังหวัดชัยภูมิ โดยใช้บริเวณเมืองชัยภูมิจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด ชัยภูมิมีเขตติดต่อกับจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ทิศเหนือติดกับเพชรบูรณ์และขอนแก่น ทิศตะวันออกติดกับขอนแก่นและนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดกับเพชรบูรณ์และจังหวัดลพบุรี และทิศใต้ติดกับจังหวัดนครราชสีมา


อันดับที่ 8 แม่ฮ่องสอน (Mae Hong Son) - พื้นที่ 12,681.259 ตารางกิโลเมตร


       แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย มีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ นับเป็นจังหวัดที่สถิติน่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีประชากรเบาบางที่สุดในประเทศ และมีประชากรน้อยมากเป็นอันดับ 5 ในขณะที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศ แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่าเป็น เมืองสามหมอก เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลาส่วนใหญ่ของปี นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังนับเป็นพื้นที่ปลายสุดด้านตะวันตกของประเทศในเขตอำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอนได้รบการสถาปนาขึ้นเป็นเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2417 โดยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าเมืองประเทศราชแห่งสยามประเทศ แม่ฮ่องสอนมีเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับประเทศพม่า ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับจังหวัดตาก ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า โดยมีแม่น้ำสาละวินคั่นเป็นบางช่วง


อันดับที่ 9 เพชรบูรณ์ (Phetchabun) - พื้นที่ 12,668.416 ตารางกิโลเมตร


       เพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 114 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 12,668 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,917,760 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 2,006.51 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 13 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 2 แห่ง สวนรุกขชาติ 3 แห่ง วนอุทยาน 1 แห่ง เพชรบูรณ์แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และมีเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลางของจังหวัด เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอน ๆ สลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ผ่านไปสู่จังหวัดในภาคกลาง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ จึงส่งผลให้พื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร ทิศเหนือมีอาณาเขตติดกับอำเภอด่านซ้าย อำเภอภูหลวง และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดกับอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น, อำเภอคอนสาร อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ ทิศใต้มีอาณาเขตติดกับอำเภอโคกเจริญ อำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดกับอำเภอนครไทย อำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก, อำเภอวังทรายพูน อำเภอทับคล้อ และอำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร, อำเภอหนองบัว และอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์


อันดับที่ 10 ลำปาง (Lampang) - พื้นที่ 12,533.961 ตารางกิโลเมตร


       ลำปาง หรือที่เรารู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองรถม้า เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรอบล้อมด้วยหุบเขาจากทุกด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำวังที่มีต้นน้ำอยู่ที่ตอนเหนือ บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ไหลลงจากเหนือสู่ใต้ พื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางนั่นคือ บริเวณอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปางมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ทิศตะวันออกติดกับ จังหวัดพะเยา แพร่ และสุโขทัย ทิศใต้ติดกับ จังหวัดสุโขทัยและตาก ทิศตะวันตกติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และตาก



ข้อมูลและรูปภาพ : google, wikipedia
เรียบเรียงโดย : lokmedee