สัตว์แปลก 50 สายพันธุ์ ที่คุณไม่คิดว่าจะมีอยู่บนโลกใบนี้


       บนโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่ถูกค้นพบและยังไม่ถูกค้นพบอีกมายมาย วันนี้โลกมีดีจะพาไปดูสัตว์แปลกๆ 43 สายพันธุ์ ที่เราอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือคิดว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่ความจริงนั้นมันมีอยู่จริงๆครับ จะมีสัตว์ชนิดไหนบ้าง หน้าตามันจะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลยครับ


1. แฟรีอาร์มาดิลโลเล็ก (Pink Fairy Armadillo)


       แฟรีอาร์มาดิลโลเล็ก หรือ พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโล เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดเป็นอาร์มาดิลโลที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีรูปร่างลักษณะประหลาด คือ มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ขณะที่ส่วนท้ายลำตัวมีแผ่นปิดอยู่เป็นแผงขนยาว ส่วนหางสั้น มีเกราะหุ้มตัวเฉพาะแค่ด้านหลัง ขณะที่ด้านข้างและด้านล่างลำตัวเป็นขนอ่อนนุ่มสีชมพู มีกรงเล็บหน้าที่แหลมคม โดยเฉพาะตีนหน้า แฟรีอาร์มาดิลโลเล็กมีความยาวเพียง 4-6 นิ้วเท่านั้น อาศัยอยู่เฉพาะแถบตะวันตกของประเทศอาร์เจนตินา เช่น จังหวัดเมนโดซา เท่านั้น โดยอาศัยในพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทรายเท่านั้น เป็นสัตว์ที่ออกหากินเฉพาะในเวลากลางคืน โดยกินแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร รวมถึงซากสัตว์ขนาดใหญ่ด้วย เช่น ซากวัว ในบางครั้งจะขุดโพรงใต้ดินอยู่ใต้พื้นที่ซากสัตว์นั้นตาย เพื่อง่ายต่อการกินหนอนหรือแมลงที่มาตอมซาก เป็นสัตว์ที่ไม่อาจจะพบเห็นตัวได้ง่าย จะพบเห็นได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในแต่ละปี โดยเฉพาะเวลาหลังฝนตก ซึ่งพื้นที่ที่มันอยู่อาศัยนั้นมีปริมาณฝนตกต่อปีน้อยมาก มันจะโผล่ออกมาจากโพรงหลังฝนตกเพราะน้ำท่วมโพรง


2. อาย-อาย (Aye-aye)


       อาย-อาย เป็นลีเมอร์ที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากลีเมอร์ทั่วไป คือ มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวเหมือนปีศาจ มีใบหูที่กางโตเหมือนค้างคาว มีฟันที่แหลมคม โดยเฉพาะฟันหน้าที่จะไม่หยุดการงอกเหมือนกับสัตว์ฟันแทะ และมีนิ้วตีนที่ลีบเล็กเรียวยาวผอมติดกระดูก ทำหน้าที่เหมือนมือ และมีจุดเด่น คือ นิ้วตรงกลาง 2 นิ้ว คือ นิ้วชี้ และนิ้วกลางจะแหลมยาวออกมาจากนิ้วอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยมีนิ้วชี้เป็นนิ้วที่ยาวที่สุด อาย-อาย มีลำตัวขนาดเท่าแมว มีขนตามลำตัวสีดำปลายขนเป็นสีเงินหรือสีเทา มีหางยาวขนฟูเป็นพวงเหมือนกระรอก น้ำหนักตัวประมาณ 15 กิโลกรัม อาศัยอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ หากินในเวลากลางคืน


3. หมาป่าเคราขาว (Maned Wolf)


       หมาป่าเคราขาว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ในวงศ์สุนัข พบในทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศบราซิล, ประเทศปารากวัย และประเทศโบลิเวีย มีลักษณะโดยผิวเผินคล้ายคลึงกับหมาจิ้งจอก แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยสูงถึง 3 ฟุต นับจากเท้าถึงหัวไหล่ น้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ขนลำตัวเป็นสีแดงน้ำตาล โดยมีขนขาและหลังคอเป็นสีดำ ขนปลายหางและใต้ลำคอเป็นสีขาว ขนดำที่หลังคอเป็นขนยาวและตั้งชันได้เวลากลัวหรือต้องการแสดงความก้าวร้าว หมาป่าเคราขาวหากินในเวลากลางคืน มันล่าสัตว์ขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นอาหาร เช่น สัตว์ฟันแทะ, กระต่าย และ นก นอกเหนือจากนี้ หมาป่าเคราขาวกินผลไม้และพืชอีกหลายชนิดไม่แพ้เนื้อสัตว์ หากไม่ได้กินพืช หมาป่าเคราขาวจะเป็นโรคนิ่วได้ ในปัจจุบัน หมาป่าเคราขาวมีจำนวนลดลง เนื่องจากถูกล่าจากมนุษย์ และติดเชื้อโรคจากสุนัขบ้าน


4. กวางเขี้ยวดาบ (Tufted Deer)


       กวางเขี้ยวดาบ หรือ กวางแคชเมียร์ เป็นกวางสายพันธุ์เล็ก ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือจะมีเขี้ยวงอกยาวออกมา โดยตัวผู้จะมีเขี้ยวยาวกว่าตัวเมีย เอาไว้ใช้ต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ กวางเขี้ยวดาบแคชเมียร์มีถิ่นอาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดีย ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ตลอดจนพื้นที่เขตแคชเมียร์ของอัฟกานิสถาน ซึ่งมันได้รับการขึ้นทะเบียนจากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร ให้เป็นสัตว์กลุ่มบัญชีแดงหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วนั่นเอง เมื่อช่วงปี 2551-2552 ทีมนักสำรวจได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าในเขตจังหวัดนูริสถาน ของประเทศอัฟกานิสถาน และได้พบเห็นกวางแคชเมียร์อีกครั้ง ถือเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากยังไม่มีใครได้พบเห็นกวางชนิดนี้อีกเลยนับแต่ปี 2491 เป็นต้นมา หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว


5. หมึกดัมโบ (Dumbo Octopus)


       หมึกดัมโบเป็นหมึกตระกูล “Grimpoteuthis” แต่ที่เรียกว่า หมึกดัมโบ้ เนื่องจากหมึกสายพันธุ์นี้มีครีบที่เหมือนใบหูบนหัว คล้ายกับช้างน้อยบินได้ชื่อ “ดัมโบ” จากการ์ตูนดังของวอลต์ ดิสนีย์ ครีบนี้ช่วยให้มันว่ายน้ำได้สะดวก โดย หมึกดัมโบจะเคลื่อนที่ด้วยแรงดันน้ำจากน้ำที่ดูดเข้าไป ทรงตัวด้วยแขนและครีบซึ่งกระพือ มองดูคล้ายพวกมันบินอยู่ใต้ท้องน้ำลึก หมึกดัมโบว่ายน้ำลอยเหนือพื้นทะเลได้เล็กน้อย ขณะมองหาเหยื่อ เช่น หนอนทะเล ปลาตัวเล็ก ดัมโบมีร่างกายอ่อนนุ่ม และกึ่งโปล่งใส มีครีบขนาดใหญ่ สองอันบนร่างกาย พังผืดยึดระหว่างหนวด อาศัยอยู่ในทุกมหาสมุทรที่ระดับน้ำลึกตั้งแต่ 3,000-7,000 เมตร ซึ่งลึกเกินกว่าหมึกสายพันธุ์อื่นจะมีชีวิตอยู่ได้ ปกติหมึกดัมโบมีขนาดราว 20 เซนติเมตร แต่เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้หมึกดัมโบสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดมีขนาดราว 1.8 เมตร และหนักถึง 5.9 กิโลกรัม อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนสีผิวเพื่อพรางตัวได้ด้วย


6. พาตาโกเนียนมารา (Patagonian Mara)


       พาตาโกเนียนมารา เป็นสัตว์ประเภทฟันแทะ (Rodent) มีรูปร่างคล้ายกระต่าย พบได้เฉพาะในประเทศอาร์เจนตินาเท่านั้น ส่วนใหญ่ในแคว้นพาตาโกเนียน ชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศทุ่งกกว้าง ที่มีพุ่มไม้ขึ้นกระจัดกระจายตลอดจน พื้นที่กึ่งทะเลทรายในแหลมวัลเดส เป็นสัตว์หากินกลางวัน กินพืช หญ้า และผลไม้เป็นอาหาร พาตาโกเนียนมารา เมื่อได้คู่จะอยู่กับคู่ไปตลอดชีวิต อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ถึง 20 คู่ และช่วยดูแลลูกของตัวอื่นด้วย


7. ตุ่นหนูไร้ขน (Naked Mole Rat)


       ตุ่นหนูไร้ขน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไร้ขน มีผิวสีชมพู มีรอยเหี่ยวย่น มีความยาวประมาณ 8-10 เซ็นติเมตร หางยาว 8 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 30-50 กรัม พบได้ในแอฟริกาตะวันออก อาศัยอยู่ใต้พื้นดิน โดยการขุดอุโมงค์โดยใช้ฟันหน้า มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพวกตัวตุ่น และมีผิวหนัง หาง คล้าย หนู และสี่งที่ทำให้พวกมันได้รับตำแหน่ง ยอดนักขุด ก็เนื่องจาก พวกมันสามารถขุดอุโมงค์ใต้ดินที่อาจจะกินอาณาบริเวณมากถึง 6 สนามฟุตบอล อุโมงค์ใต้ดินจะถูกเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย ภายในอุโมงค์จะมีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส แบ่งเป็นหลายห้อง มีทั้งห้องเก็บอาหาร ห้องนอน ห้องขับถ่าย ห้องเลี้ยงลูกอ่อนและที่นี้ก็เป็นที่อยู่ของนางพญาตุ่น


8. โลมาอิรวดี (Irrawaddy Dolphin)


       โลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง เป็นโลมาชนิดหนึ่ง มีขนาดประมาณ 180-275 เซนติเมตร รูปร่างหน้าตาคล้ายโลมาทั่วไป แต่มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว พบในมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวไทย และมักพบในแหล่งน้ำกร่อยและทะเลสาบหรือน้ำจืด เช่น บริเวณปากแม่น้ำ โลมาอิรวดีบางกลุ่มอาจเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ด้วย เช่น แม่น้ำโขง และทะเลสาบเขมร ในปี พ.ศ. 2459 มีรายงานว่าพบอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ปัจจุบันในน้ำจืด สามารถพบได้ 5 แห่ง คือ ทะเลสาบชิลิก้า ประเทศอินเดีย, แม่น้ำโขง, ทะเลสาบสงขลา, แม่น้ำมหาคาม ประเทศอินโดนีเซีย และปากแม่น้ำบางปะกง  อาหาร ได้แก่ กุ้ง ปลา และหอยที่อยู่บนผิวน้ำและใต้โคลนตม


9. แอนทิโลปคอยีราฟ (The Gerenuk)


       แอนทิโลปคอยีราฟ, เกรินุก หรือวอลเลอส์กาเซลล์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีลักษณะเด่นคือ มีคอยาวและขายาวกว่าชนิดอื่น ๆ ซึ่งคำว่า "เกรินุก" นั้นมาจากคำในภาษาโซมาเลีย หมายถึง "คอยีราฟ" เพราะเกรินุกมีพฤติกรรมการกินอาหารที่แปลก คือ มักจะยืนบน 2 ขาหลัง ทำให้สามารถยืดคอขึ้นไปกินใบไม้ที่อยู่สูงขึ้นไปเหมือนยีราฟ ส่วน 2 ขาหน้าจะใช้เกาะกิ่งไม้ไว้ ขนาดเมื่อโตเต็มที่ในตัวผู้จะมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม ในตัวเมีย 33 กิโลกรัม มีความสูงวัดจากเท้าจนถึงหัวไหล่ประมาณ 0.85-1 เมตร ความยาวลำตัวประมาณ 1.5-1.6 เมตร ความยาวหาง 25-30 เซนติเมตร มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 10-12 ปี ตัวผู้มีเขาที่โค้งงอสวยงาม ตัวเมียไม่มีเขาและตัวเล็กกว่า อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์แห่งชาติแซมบูรูในเคนยา และพบได้ในเขตอนุรักษ์แห่งชาติแซมบูรูเท่านั้น


10. พะยูน (Dugong)


       พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น มีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลมเทอะทะ ครีบมีลักษะคล้ายใบพาย ซึ่งวิวัฒนาการมาจากขาหน้าใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีใบหู ตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อแย่งคู่กับใช้ขุดหาอาหาร ในตัวเมียมีนมอยู่ 2 เต้า ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ถัดลงมาจากขา คู่หน้า สำหรับเลี้ยงลูกอ่อน มีลำตัวและหางคล้ายโลมา สีสันของลำตัวด้านหลังเป็นสีเทาดำ หายใจทางปอด สามารถกลั้นหายใจใต้น้ำได้นานราว 20 นาที อาหารของพะยูน ได้แก่ หญ้าทะเล ที่ขึ้นตามแถบชายฝั่งและน้ำตื้น โดยพะยูนมักจะหากินในเวลากลางวัน และใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พฤติกรรมการหากินจะคล้ายกับหมู โดยจะใช้ครีบอกและปากดุนพื้นทรายไถไปเรื่อย ๆ พบได้ในทะเลเขตอบอุ่นอย่างกว้างขวางตั้งแต่ชายฝั่งของทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก, มหาสมุทรอินเดีย, ทะเลอันดามัน, อ่าวไทย, ทะเลจีนใต้, ทะเลฟิลิปปิน, ทะเลซูลู, ทะเลเซเลบีส, เกาะชวา จนถึงโซนโอเชียเนีย โดยปกติแล้วมักจะไม่อาศัยอยู่น้ำที่ขุ่น


11. บาบิรูซ่า (The Babirusa)


       บาบิรูซ่า มีลักษณะทั่วไปคล้ายหมู ไม่มีขน เพศผู้จะมีเขี้ยวที่ฟันล่าง 1 คู่ และเหนือจมูกอีก 1 คู่ ชอบอาศัยอยู่ในโคลน หนองน้ำ เคลื่อนไหวได้เงียบมาก ออกลูกคอกละ 1-3ตัว กินพืชเป็นอาหาร มันแตกต่างจากหมูชนิดอื่นตรงที่ มีระบบย่อยอาหารเหมือนวัว-ควาย จึงสามารถย่อยเส้นใยได้ดี พบได้ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบนเกาะสุราวาสี โทเกียน ซูลา และเกาะบูรู


12. ปลาเเลมป์เพรย์ (Lamprey)


       ปลาแลมเพรย์เป็นปลาไหลชนิดหนึ่ง ลำตัวด้านหลังมักจะเป็นสีดำ มีครีบหลังและครีบหาง แต่ไม่มีครีบคู่ ไม่มีเกล็ด ปากจะอยู่ค่อนลงมาทางด้านท้อง มีลักษณะคล้ายแว่นใช้สำหรับดูด ปากกลมซึ่งไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นมาบังคับขากรรไกรให้อ้าและหุบแบบปัจจุบัน พวกมันต้องการเพียงปากที่มีตะขอสำหรับเกาะเหยื่อเพื่อดูดเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหาร และดำรงชีพเป็นปรสิตเมื่อดูดเลือดของเหยื่อจนตัวเหยื่อแห้งก็จะปล่อยแล้วหาเหยื่อใหม่ แลมเพรย์มีหลายชนิด บางชนิดไม่จำเป็นต้องดำรงแบบปรสิต มีทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล และมีกระจายอยู่ทั่วโลก คือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป อาฟริกาตะวันตก ญี่ปุ่น ชิลี นิวซีแลนด์ และ ทาสเมเนีย


13. ฟอสซา (The Fossa)


       ฟอสซา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับแมวผสมพังพอน มีขนออกสีน้ำตาล ฟอสซ่าสามารถปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างเก่งกาจ เพราะพวกมันมีเล็บที่แข็งแรง และพวกมันสามารถล่าอาหารบนต้นไม้ได้ ความแปลกประหลาดของฟอสซาไม่ได้อยู่ที่หน้าตาเพียงอย่างเดียว แต่เพราะเพศเมียที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีกระดูกคล้ายอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศผู้ยื่นออกมาด้วย ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นปุ่มคลิตอริสนั่นเอง อาศัยอยู่ในเกาะมาดากัสก้า ทางใต้ของทวีปแอฟริกาเท่านั้น จึงเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักมากนัก


14. ตุ่นจมูกดาว (Star-Nosed Mole)


       ตุ่นจมูกดาว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับตุ่นชนิดอื่น ๆ แต่มีส่วนหางยาว โดยลักษณะเฉพาะตัวที่ดูโดดเด่น คือ เส้นขนที่จมูกที่บานออกเป็นแฉก ๆ คล้ายดาว ซึ่งทำหน้าที่เป็นประสาทสัมผัส 22 เส้นอยู่รอบรูจมูก โดยมีปลายสัมผัสที่เส้นขนเหล่านี้มากมายราวถึง 100,000 จุด โตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 55 กรัม มีฟัน 44 ซี่ หากินด้วยการใช้กรงเล็บอันแข็งแรงขุดคุ้ยดินในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือตะกอนลำธาร โดยใช้หนวดรอบจมูกคอยสอดส่องหา อันได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น แมลงน้ำและตัวอ่อนชนิดต่างๆ สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก เป็นต้น อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มชื้นแฉะ ในบริเวณภาคตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือระหว่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยพบไปถึงชายฝั่งทะเลในรัฐจอร์เจีย


15. บ่าง (Sunda Colugo)


       บ่าง หรือ พุงจง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว (ไม่มีนิ้วหัวแม่มือ) สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว เล็บแหลมคมมากใช้สำหรับไต่และเกาะเกี่ยวต้นไม้ มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม ออกหากินในเวลากลางคืน ตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้ ดอกไม้ เป็นหลัก พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น


16. ดุยเกอร์ลาย (Zebra Duiker)


       ดุยเกอร์ลาย จัดอยู่ในประเภทสัตว์กีบ มีลักษณะคล้ายกับกวาง แต่แตกต่างที่บริเวณด้านหลังของดุยเกอร์ลายจะมีแถบเส้นสีดำพาดผ่านสลับกับขนสีแดงน้ำตาลแบบเดียวกับม้าลาย โดยเพศผู้จะมีเขางอกออกมาประมาณ 4.5 เซนติเมตร ส่วนเขาของตัวเมียจะมีความยาวเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น พวกมันชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำของป่าดิบชื้นและกินใบไม้กับผลไม้เป็นอาหาร


17. ปูเยติ (Yeti Crab)


       ปูเยติ ปูชนิดนี้ถูกค้นพบในทะเลลึกแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างออกไปทางใต้จากเกาะอิสเตอร์ราว 1,500 กิโลเมตร ในเขตน่านน้ำของประเทศชิลี การค้นพบนี้เป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากการที่มีเรือดำน้ำลงไปสำรวจทะเลที่ความลึก 2,200 เมตร และพบว่ามีตัวแปลกๆ เกาะอยู่ที่รอยแยกตรงพื้นทะเล ด้วยลักษณะที่มีขนปกคลุมจึงถูกเรียกว่า เยติ มาเรื่อย นอกจากนี้ปูเยติ ยังมีก้ามที่มีลักษณะสีสันสวยงามโดยมักจะยื่นก้ามเข้าไปในน้ำแร่ร้อนที่พ่นออกตามรอบแยกของพื้นทะเล ทั้งนี้ก็ยังปริศนาอีกประการว่าการกระทำเช่นนี้ทำไปเพื่ออะไร


18. นกปักษาสวรรค์ (Superb Bird of Paradise)


       นกปักษาสวรรค์ หรือ นกการเวก เป็นนกที่มีสีสันสวยงามมาก โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีขนตามตัวสีสันฉูดฉาดสวยงาม ขนหางเหยียดยาวเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย หรือม้วนเป็นรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิด จุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดตัวเมียที่มีความงามด้อยกว่า หรือบางกรณีก็เกิดพึงพอใจในตัวเมียต่างชนิดให้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย ขณะที่ตัวผู้บางชนิดจะเต้นไปบนพื้นดินเพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย นกปักษาสวรรค์ตัวผู้ทุกชนิดจะสนใจแต่เรื่องหาคู่ กินผลไม้และแมลงเป็นอาหาร นกปักษาสวรรค์กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของนิวกินี, หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย


19. ปลาบร็อบ (Blob Fish)


      ปลาบร็อบสามารถพบเจอได้ในก้นทะเลซึ่งมีความกดอากาศมากกว่าระดับทะเลทั่วไป ถึง 12 เท่า โดยปกติแล้วความกดอากาศมากขนาดนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของกระเพาะปลาลดต่ำลง แต่ปลาบร็อบมีหนังเป็นแพวุ้นหุ้มหนาแน่นยิ่งกว่าท้องน้ำ จึงลอยตัวอยู่เหนือพื้นทะเลได้โดยไม่หมดกำลัง ใช้พลังงานน้อยที่สุด จึงทำให้ปลาบร็อบไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อ และข้อดีอย่างแรกก็คือมันสามารถทิ้งตัวลงมาจับเหยื่อจากด้านบนจึงเป็นการดีกว่าจะเข้าจู่โจมจากด้านหน้า เพราะอาจจะได้รับอันตรายจากการที่เหยื่อต่อสู้ได้ ปลาบร็อบอาศัยในน้ำลึกนอกชายฝั่งออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่และในแทสแมเนีย


20. ตะพาบหัวกบ (Cantor’s Giant Soft Shelled Turtle)


       ตะพาบหัวกบ เป็นตะพาบชนิดหนึ่ง จัดเป็นตะพาบขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่สุดพบขนาดกระดองยาว 120 เซนติเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในสกุลตะพาบหัวกบนี้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเขียว ด้านล่างสีอ่อน หัวมีลักษณะเล็กสั้นคล้ายกบหรืออึ่งอ่าง ตามีขนาดเล็ก เมื่อยังเล็กสีของกระดองจะมีสีน้ำตาลปนเขียวอ่อน ๆ มีจุดเล็ก ๆ สีเหลืองกระจายทั่วไป และค่อย ๆ จางเมื่อโตขึ้น รวมทั้งสีก็จะเข้มขึ้นด้วย ปัจจุบันเป็นตะพาบที่พบได้น้อยมาก จนถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครองของกรมประมง มีอุปนิสัย ดุร้าย มักฝังตัวอยู่นิ่งๆ ในพื้นทรายใต้น้ำเพื่อกบดานรอดักเหยื่อ พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ในแม่น้ำสายใหญ่ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงในภาคอีสาน


21. หนูเจอร์บัว (Gobi Jerboa)


        หนูเจอร์บัว เป็นหนูทะเลทรายชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายหนูผสมกับจิงโจ้ มีความยาวตลอดลำตัวเพียงแค่ 15-16 เซนติเมตร มีขาหลังยาวกว่าขาหน้าใช้ในการเคลื่อนที่ กระโดดได้ไกลถึง 3 เมตร ส่วนขาหน้าเอาไว้หยิบจับอาหาร กับใบหูยาว ๆ ที่มีไว้สำหรับจับคลื่นเสียง โดยเวลาปกติจะฝังตัวอยู่ชั้นใต้ดินของพื้นทราย โดยจะออกมาหากินเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น กินเมล็ดพืช ผักต่างๆ และแมลงเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในทะเลทรายของประเทศมองโกเลียและจีน


22. ปูแมงมุมญี่ปุ่น (Japanese Spider Crab)


       ปูแมงมุมญี่ปุ่น เป็นปูที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างถึง 4 เมตร (วัดความกว้างเมื่อกลางขา) กระดองกว้าง 37 เซ็นติเมตร มีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม ลำตัวมีสีส้ม มีจุดแต้มสีขาว มีขา 8 ขา และก้าม 2 อัน กระดองและขามีลักษณะขรุขระ เป็นปุ่มหนาม มีอายุยืนได้ถึง 100 ปี กินซากสัตว์และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กุ้ง หอย ปลาเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ความลึก 300 - 400 เมตร พบได้บนเกาะฮอนชูลงไปทางทิศใต้จนถึงเกาะคิวชิวที่มีพื้นทะเลเป็นทรายหรือเป็นโคลนเท่านั้น เนื่องจากมันทรงตัวได้ไม่ดีนัก จึงต้องอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่งๆ


23. ปลาค้างคาวปากแดง (Red-Lipped Batfish)


       ปลาค้างคาวปากแดง พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลก มีลักษณะเด่นคือ ริมฝีปากสีแดงสด พวกมันไม่ได้เป็นนักว่ายน้ำที่ดี เลยต้องปรับตัวโดยมีครีบแข็งบริเวณใต้ท้องของมันที่ทำหน้าที่เหมือนกับขาที่ใช้ในการคลานหรือเดินบนพื้นมหาสมุทร พบได้ทั่วหมู่เกาะกาลาปากอสที่ระดับความลึก 30 เมตรหรือมากกว่า ปลาค้างคาวปากแดง (Red-Lipped Batfish) มีความสัมพันธุ์ใกล้ชิดกับ ปลาค้างคาวปากสีดอกกุหลาบ (Rosy-Lipped Batfish) ซึ่งจะพบอยู่แถวเกาะโคโคส บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศคอสตาริกา


24. ฉลามก็อบลิน (Goblin Shark)


       ฉลามก็อบลิน เป็นปลาฉลามน้ำลึกที่พบเห็นตัวได้ยาก เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในวงศ์และสกุลเดียวกันนี้ก็ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็น "ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต" มีความยาวเต็มที่ 3 - 4 เมตร ปลาฉลามกอบลินมีลักษณะเด่น คือ บริเวณส่วนหัวด้านบนที่มีส่วนกระดูกที่ยื่นแหลมออกไปข้างหน้าเหนือกรามบน ในปากเต็มไปด้วยฟันที่แหลมคม ซึ่งส่วนหัวที่ยื่นยาวออกไปนั้น ด้านล่างประกอบไปด้วยอวัยวะเล็ก ๆ หลายร้อยอันที่ทำหน้าที่เหมือนเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เพื่ออาหารซึ่งได้แก่ ปู หรือสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ที่หลบซ่อนตัวลงในพื้นโคลนใต้ทะเล ซึ่งเป็นสถานที่หาอาหารได้ยากยิ่ง อีกทั้งกรามยังสามารถขยายออกมาเพื่อพุ่งงับเหยื่อมิให้หลุดไปได้อีกด้วย ฉลามก็อบลินอาศัยอยู่ในเขตน้ำลึกได้มากกว่า 100 เมตร ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกแถบมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ไล่ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติคและมหาสมุทรอินเดียตอนใต้


25. มดแพนด้า (The Panda Ant)


       มดแพนด้า ความจริงแล้วมันไม่ใช่มด มันคือตัวต่อ แต่ที่เราเรียกมันว่ามดแพนด้านั้นก็เพราะว่าตัวเมียจะไม่มีปีกทำให้ดูเหมือนมด แถมยังมีลายเหมือนแพนด้าอีกด้วย ตัวต่อนี้มีพิษร้ายแรงถึงขั้นฆ่าวัวได้ทั้งตัวเลยทีเดียว มันเลยได้ฉายาว่า มดนักฆ่าวัว พบในประเทศชิลี


26. พีนิส สเนค (Penis Snake)


       ด้วยลักษณะที่คล้ายกับอวัยวะเพศชายจึงเป็นที่มาของชื่อ แม้รูปร่างของมันจะเหมือนงู แต่มันก็ไม่ได้อยู่ในจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน แต่มันเป็นญาติกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างกบและซาลามานเดอร์ มันมีระบบหายใจทางผิวหนัง กินสัตว์ตัวเล็กๆเป็นอาหาร เช่น ปลา หนอน พวกมันถูกพบหลังจากที่วิศวกรได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำมาเดรา เป็นแม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำแอมะซอน ประเทศบราซิล โดยพบทั้งหมด 6 ตัว แต่ละตัวมีความยาวประมาณ 1 เมตร


27. แมลงหนามกุหลาบ (Umbonia Spinosa)


       แมลงหนามกุหลาบ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับหนามของกุหลาบ ลำตัวมีขนาดความยาว 0.5 นิ้ว มีสีเขียว สีแดงและสีเหลือง เป็นลวดลายอยู่บนตัวเดียวกัน พวกมันจะเกาะกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้และผลไม้และกัดกินจนได้รับความเสียหาย แมลงชนิดนี้ระบาดอย่างหนักทางภาคใต้ของรัฐฟลอริดา


28. เม่นเทนเรค (Lowland Streaked Tenrec)


       เม่นเทนเรค เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ลำตัวสีดำแถบเหลือง มีลักษณะเด่นที่ชอบสะบัดตัวให้ขนกระทบกันเป็นเสียงเพื่อหาคู่เวลาฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่ใช้วิธีหาคู่แบบนี้ สามารถพบได้ในแถบมาดากัสการ์


29. ผีเสื้อนกฮัมมิ่งเบิร์ด (Hummingbird Hawk-Moth)


       ผีเสื้อนกฮัมมิ่งเบิร์ด เป็นผีเสื้อกลางคืนที่บินหากินตอนกลางวัน ซึ่งมีลักษณะการกินน้ำหวานของมันเหมือนกับการบินของนกฮัมมิ่งเบิร์ด คือบินอยู่กับที่และกระพือปีกตลอดเวลา ซึ่งผีเสื้อทั่วไปบินในลักษณะนี้ไม่ได้ สามารถพบได้ที่ใดก็ได้ทั่วโลกในช่วงฤดูร้อน


30. บลูซีซลัก (Glaucus Atlanticus)


       บลูซีซลัก มันเป็นสัตว์จำพวกหอย แต่จะมีรูปร่างลักษณะที่แปลกประหลาดไปจากหอยทั่วไป ตัวโตเต็มที่มีความยาวเพียง 3 เซนติเมตร แม้จะมีขนาดเล็กแต่พิษที่ซ่อนอยู่ในตัวมันสร้างความเจ็บปวดไปสู่หัวใจและปอดได้ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต มันสามารถลอยอยู่เหนือผิวน้ำได้ด้วยการพองถุงก๊าซในกระเพาะอาหารของตัวมันเอง สีฟ้าของตัวมันสามารถอำพรางให้กลมกลืนกับน้ำทะเลได้เป็นอย่างดี กินสัตว์เล็กๆรวมไปถึงสัตว์มีพิษขนาดเล็กเป็นอาหาร หอยบลูซีซลักจะแพร่กระจายในมหาสมุทรทั่วโลกในน่านน้ำเขตร้อนเท่านั้น


31. กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี (Mantis Shrimp)


       กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี เป็นกั้งที่มีสีสวย มีขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มักอยู่ตามพื้นทราย นอกเขตแนวปะการัง บางครั้งอาจพบได้ในเขตน้ำตื้น แต่บางครั้งอาจเดินอยู่บนพื้นเพื่อหาอาหาร ได้แก่ หอยฝาเดียว, กุ้ง, ปู หรือปลาขนาดเล็ก ตามีการพัฒนาสูงสุด สามารถสแกนภาพได้ โดยใช้เส้นขนานกลางตาเพื่อเล็งเหยื่อ ก่อนใช้ขาคู่หน้าดีดไปอย่างแรง ลักษณะคล้ายตั๊กแตนตำข้าวจับเหยื่อ อาจใช้ดีดจนกระดองปูหรือเปลือกหอยแตกได้ ซึ่งแรงดีดนี้รุนแรงมาก แม้แต่จะทาให้มนุษย์บาดเจ็บได้ หรือแม้กระทั่งกระจกตู้ปลาอาจแตกด้วยแรงดีดเพียงครั้งเดียว มีพฤติกรรมหลบซ่อนอยู่ในรู โดยโผล่มาแต่เฉพาะส่วนหัว  แต่ถ้าเดินหากินอยู่ไกลโพรง เมื่อพบเจอกับศัตรู บางครั้งจะชูตัวยกขึ้นแล้วชูขาหน้าเพื่อขู่ศัตรู หากไม่ได้ผลจะงอตัวกลิ้งกับพื้น หากจวนตัวจะดีดตัวอย่างรวดเร็วพุ่งหายไป พบในความลึกไม่เกิน 20 เมตร กระจายพันธุ์ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่เกาะกวมจนถึงแอฟริกาตะวันออก ในน่านน้ำไทยพบได้น้อยทางฝั่งอ่าวไทย แต่จะพบได้มากกว่าทางฝั่งทะเลอันดามัน


32. ผีเสื้อพุดเดิ้ล (Venezuelan Poodle Moth)


       ผีเสื้อพุดเดิ้ล เป็นผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งมีการค้นพบในแถบประเทศเวเนซูเอล่าเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมานี้เอง มีดวงตาปูดโปนสีดำ มีปีก บริเวณเหนือตาน่าจะเป็นหนวดคล้ายกับก้างปลา ลำตัวที่เต็มไปด้วยขนปุกปุยเหมือนสุนัขพุดเดิ้ล ทำให้เป็นที่มาของชื่อ


33. ปลาปาคู (The Pacu Fish)


       ปลาปาคู เป็นปลาน้ำจืดในตระกูลเดียวกับปิรันย่า และมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำอเมซอนเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ปิรันย่าจะมีฟันเป็นลักษณะฟันเลื่อยและแหลมคมมาก ส่วนฟันของปลาปาคูจะหนาและแข็งคล้ายกับฟันมนุษย์ ปลาคู้จะกินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ถั่ว, ใบไม้, พืชน้ำ และหอยทาก แต่ปลาปิรันยาจะกินแต่เนื้อเพียงอย่างเดียว ปลาปาคูมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง กระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้เช่น อเมซอน, โอรีโนโก เป็นต้น


34. ไอโซพอดยักษ์ (Giant Isopod)


       ไอโซพอดยักษ์ คือสัตว์มีกระดองเป็นญาติของกุ้งและปู อาศัยอยู่ตามพื้นสมุทรมีเปลืองแข็งๆที่ห่อหุ้มร่างไว้ สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 16 นิ้ว อยู่ในระดับลึกตั้งแต่ 170 - 2140 เมตร พบได้ในทะเลที่มีความหนาวเย็น แถบมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย


35. ไซกา (The Saiga Antelope)


       ไซกา หรือ กุย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง เป็นพี่น้องกับละองละมั่ง มีความสูงประมาณ 0.6-0.8 เมตร (วัดจากพื้นถึงไหล่) มีความยาวลำตัว 108-146 เซนติเมตร หางยาว 6-13 เซนติเมตร น้ำหนัก 36-63 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียและมีเขาซึ่งยาว 20-25 เซนติเมตร กุยมีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่าย คือ จมูกที่มีขนาดใหญ่และยืดหยุ่นได้ มีรูปร่างแปลกเหมือนจมูกของสมเสร็จซึ่งมีหน้าที่ในการอุ่นอากาศหายใจในฤดูหนาวและกรองฝุ่นออกในฤดูร้อน ในฤดูร้อน ขนของกุยจะบางและมีสีเหลืองเหมือนสีอบเชย มีความยาว 18-30 มิลลิเมตร ส่วนในฤดูหนาวจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาว ความยาว 40-70 มิลลิเมตร กินพืชได้หลายชนิดรวมทั้งพืชที่มีพิษ ว่ายน้ำเก่ง และยังสามารถวิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในวันหนึ่งสามารถเดินทางได้ไกล 80-100 กิโลเมตร จะอพยพทุก ๆ ปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิขึ้นเหนือเพื่อไปพื้นที่เล็มหญ้าในช่วงฤดูร้อน พบได้ในเอเชียกลาง ได้แก่ ไซบีเรียตอนใต้, มองโกเลียตะวันตก และจีนตะวันตกเฉียงเหนือ


36. งูพิษใบไม้ (The Bush Viper)


       งูพิษใบไม้ เป็นงูที่มีพิษร้ายแรง เมื่อถูกกัดพิษงูมีผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด และทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เสียชีวิตในที่สุด งูพิษใบไม้มีหลากสี ตามสถานที่่กำเนิดและอาศัย สีเขียว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม สีมะกอกเข้มหรือสีน้ำตาลมะกอก สีที่หายากเป็นสีเหลือง สีแดง หรือสีเทาหินชนวน มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าชุ่มชื้นของแอฟริกากลางและตะวันตกแถบ ประเทศไนจีเรีย กาบอง คองโก แองโกลา , ยูกันดา แทนซาเนียและประเทศเคนยา


37. ปลานกแก้ว (The Blue Parrotfish)


       ปลานกแก้ว เป็นปลาทะเลกระดูกแข็ง มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร เกล็ดมีขนาดใหญ่ เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง เป็นปลาที่กินฟองน้ำ ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้ายๆจะงอยปากนกแก้วเพื่อใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้ ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน ปลานกแก้วอาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด


38. กบสีม่วง (Indian Purple Frog)


       กบสีม่วง เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ตัวโค้งงอคุ้ม ลักษณะคล้ายกับการนั่งยองๆ มีหัวเล็กและเป็นลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกบทั่วไป จมูกแหลมและชี้ เมื่อโตเต็มที่จะมีสีม่วงเข้ม ตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เสียงร้องคล้ายๆส่วนหนึ่งของไก่ ภายใน 1 ปี กบม่วงจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน จะขึ้นมาเหนือพื้นดินประมาณ 2 สัปดาห์ในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง เพื่อจะหาคู่ผสมพันธุ์ โดยนิสัยแล้ว กบสีม่วงจะชอบอยู่อย่างสันโดษ เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ กบพันธุ์นี้จะไม่หาอาหารจากเหนือพื้นดินเหมือนกบทั่วไป แต่จะหาอาหารได้จากใต้ดิน อย่างเช่น ปลวกหรือแมลงที่อยู่ใต้ดิน เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์กบจะ ขยายขาหนีบที่ใหญ่ออกมาเพื่อรองน้ำฝน มักจะพบเจอมากแถวๆลุ่มแม่น้ำทางทิศตะวันตกในประเทศอินเดีย


39. นกกระสาปากพลั่ว (Shoebill)


       นกกระสาปากพลั่วจัดเป็นนกที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง ส่วนสูงเมื่อโตเต็มที่ 115-150 เซนติเมตร ความกว้างเมื่อกางปีก 230-260 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 4-7 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยจะมีสีเทา ส่วนนกขนาดเล็กจะมีสีออกน้ำตาลกว่า นกกระสาปากพลั่ว มีจุดเด่นคือ จะงอยปากที่หนาและรูปทรงประหลาดไม่เหมือนนกชนิดอื่น นกกระสาปากพลั่วหาอาหารในบึงน้ำหรือบ่อโคลน อาหารได้แก่ ปลา กบ กระทั่งลูกจระเข้ หรือลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไร้ทางสู้ ทำรังบนพื้นดิน ออกไข่ครั้งละ 2 ฟอง ปัจจุบัน เป็นนกที่ถูกจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่บริเวณบึงใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก แถบประเทศซูดานและแซมเบีย


40. โอคาพี (Okapi)


       โอคาพี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์พื้นเมืองของเขตป่าฝนอีตูรี ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในแอฟริกากลาง แม้ว่าโอคาพีจะมีลายแถบและรูปร่างที่คล้ายกับม้าลาย แต่ที่จริงแล้วมีสายสัมพันธ์กับยีราฟ อันเป็นสัตว์ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และถือว่าเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดเท่านั้นในวงศ์นี้ ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่อีกชนิดหนึ่ง โอคาพีมีความสูงเพียงประมาณ 1.5-2 เมตร มีความยาวประมาณ 2-2.5 เมตร มีน้ำหนักอยู่ในราว 200-250 กิโลกรัม บริเวณขาทั้ง 4 ข้างและบั้นท้ายจะมีแถบดำคล้ายกับม้าลาย ส่วนบริเวณคอนั้นจะเห็นเป็นแถบไม่ชัดนัก อีกทั้งยังมีนัยน์ตาคล้ายคลึงกับกวางหรือแอนทีโลป โอคาพีตัวผู้นั้นจะมีเขา 2 เขา โดยหากมองจากด้านข้างแล้วจะทำให้ดูราวกับว่ามีเพียงเขาเดียว ซึ่งในอดีตมีผู้เคยเข้าใจว่าโอคาพี คือ ยูนิคอร์น สัตว์ในเทพปกรณัมกรีกด้วยซ้ำ แถบดำบนตัวของโอคาพีนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยพรางตัวในธรรมชาติแล้ว ยังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้โอคาพีวัยอ่อนสามารถที่จะสังเกตเห็นแม่ของตัวเองได้ง่ายขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าฝนที่หนาทึบ เพราะถึงแม้โอคาพีเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ มักใช้ชีวิตตามลำพัง แต่โอคาพีตัวเมียจะดูแลและไปไหนมาไหนกับลูกของตัวเองเสมอ


41. นาร์วาล (Narwhal)


       นาร์วาล เป็นวาฬมีฟันขนาดกลาง เป็นหนึ่งในสองของสปีชีส์วาฬวงศ์โมโนดอนติแด เช่นเดียวกับวาฬเบลูกา นาร์วาลเพศผู้มีลักษณะที่โดดเด่นคือ มีงาที่ยาว ตรง เป็นเกลียวที่ยื่นมาจากกรามบนด้านซ้ายของพวกมัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือ ฟันเพียงซี่เดียวของพวกมันที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ปัจจุบันยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่ามีไว้สำหรับทำอะไร เพราะนาร์วาลไม่ได้ใช้งาตรงนี้ในการขุดเจาะหาอาหารหรือต่อสู้กันเอง นาร์วาลใช้ชีวิตตลอดทั้งปีที่บริเวณอาร์กติก พบในบริเวณอาร์กติกของแคนาดาและเขตทะเลของกรีนแลนด์ หาได้ยาก นาร์วาลเป็นนักล่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเขตอาร์กติก มันกินเหยื่อบริเวณพื้นใต้น้ำเป็นอาหาร โดยเป็นปลาซีกเดียวเป็นส่วนใหญ่ ที่ระดับความลึกถึง 1,500 เมตรใต้ก้อนน้ำแข็งหนา มีการล่านาร์วาลมากว่า 1,000 ปีโดยชาวอินูอิตในภาคเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์สำหรับเนื้อและงา รวมถึงล่าเพื่อการยังชีพแบบควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ประชากรต่างถือว่าพวกมันตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีช่วงที่แคบและอดอาหาร


42. ทอร์นนี่ เดวิล (Thorny Dragon)


       ทอร์นนี่ เดวิล เป็นกิ้งก่าสายพันธุ์ออสเตรเลีย ตัวมีสีน้ำตาลและสีแทนเอาไว้พลางตัวในทะเลทราย ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มันมีหนามทั้งตัวช่วยให้มันเก็บสะสมน้ำ โตเต็มที่ถึง 20 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในที่แห้ง พบได้ในทะเลทรายของออสเตรเลีย อาหารและการเก็บรักษาน้ำ กินมดเป็นอาหาร วางไข่ครั้งละ 3-10 ฟอง และเจ้าทอร์นนี่ยังเป็นกิ้งก่าที่มีอายุยืนถึง 20 ปีเลยที่เดียว


43. หมูทะเล (Sea Pig) 


       หมูทะเล เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มปลิงทะเลน้ำลึก (sea cucumber) มีลักษณะอ้วนกลม ผิวสีชมพู มีปากที่คล้ายจมูกหมู จึงไม่แปลกที่พวกมันจะถูกเรียกว่า "หมูทะเล" กินอาหารพวกเศษซากพืช ซากสัตว์ ที่ปะปนอยู่ในโคลนของพื้นทะเล พบได้ในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่ความลึกมากกว่า 1,000 เมตร


44. ปูมะพร้าว (Coconut Crab)


       ปูมะพร้าว เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน และเป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน สามารถเจาะลูกมะพร้าวได้ด้วยก้ามอันทรงพลัง แถมยังชอบขโมยข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ส่องประกาย อย่างเช่น หม้อ หรือถ้วยสแตนเลส อีกด้วย ขนาดตัวเมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักถึง 4 กิโลกรัม และความยาวของลำตัว 40 เซนติเมตร ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร ซึ่งเป็นที่เชื่อว่านี่คือขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของสัตว์ขาปล้องที่อยู่บนบก ปูมะพร้าวมีอายุประมาณ 30-60 ปี อาหารหลักของปูมะพร้าวคือผลไม้ โดยเฉพาะมะพร้าว ปูมะพร้าวสามารถกินได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ใบไม้ ผลไม้เน่า ไข่เต่า ซากสัตว์ และเปลือกของสัตว์อื่นๆ ปูมะพร้าวอาจกินสัตว์อื่นเป็นๆที่เคลื่อนไหวช้า เช่น เต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่ เป็นต้น ปูมะพร้าวพบได้ที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะคริสต์มาสต์ในมหาสมุทรอินเดียนับได้ว่าเป็นแหล่งอาศัยของปูมะพร้าวที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด หมู่เกาะคุกในมหาสมุทรแปซิฟิกก็นับว่ามีปูมะพร้าวจำนวนมากไม่แพ้กัน


45. โคพันธุ์เบลเยี่ยนบลู (Belgian Blue Bull)


       เบลเยี่ยนบลู คือ วัวเนื้อ จากประเทศเบลเยี่ยม( Belgium) เป็นสายพันธุ์วัวที่เกิดจากการมีการผสมพันธุ์กับวัวจากประเทศอังกฤษ ร่างกายของวัวสายพันธุ์นี้จะเต็มไปด้วยมัดกล้าม ยิ่งเมื่อทำการโกนขนออกแล้วจะเห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน ดูแล้วเหมือนมันเป็น วัวนักกล้าม ตัวผู้เต็มวัยหนัก 1100-1250 กิโลกรัม ความสูงที่ตะหนอก 146-155 เซนติเมตร แม่โคเต็มวัยมีน้ำหนัก 700-750 กิโลกรัม ความสูงที่ตะหนอก 132-138 เซนติเมตร


46. ปลา Sarcastic Fringehead 


       Sarcastic Fringehead เป็นปลาหน้าตาประหลาดที่ค่อนข้างดุร้ายและมีนิสัยหวงถิ่น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 30 เซ็นติเมตร มีครีบหน้าอกขนาดใหญ่ และมีปากที่สามารถอ้าได้กว้างมาก เมื่อเกิดการต่อสู้กันพวกมันจะอ้าปากประกบกันเพื่อวัดพลังและขนาดของปาก อาหารของมันคือกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ขนาดเล็กกว่าปากของมัน มีถิ่นกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบทวีปอเมริกาเหนือ มักอาศัยอยู่ในซากเปลือกหอยหรือตามร่องหิน ที่ระดับความลึก 3-73 เมตร


47. สุนัขพันธุ์เบอร์กามาสโค เชฟเฟิร์ด (Bergamasco Shepherd)


       เบอร์กามาสโค เชฟเฟิร์ด เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สุนัขต้อนแกะที่มีความเก่าที่สุดสายพันธุ์หนึ่งบนโลก ขนของมันมีลักษณะเป็นแผงคล้ายๆกับขนติดสังกะตัง  เบอร์กามาสโคมีต้นกำเนิดในเทือกเขาแอลป์ใกล้กับเมืองแบร์กาโม ประเทศอิตาลี ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น ผู้คนต้องต้อนฝูงแกะผ่านเทือกเขาอันกว้างใหญ่และหนาวเหน็บอย่างอย่างเทือกเขาเอฟส์ ทำให้สุนัขสายพันธุ์นี้มีความทนทานต่อสภาพอากาศและความยากลำบากของภูมิประเทศ


48. แตงกวาทะเล (Transparent Sea Cucumber)


       แตงกวาทะเล เป็นสัตว์ที่พึ่งถูกค้นพบได้ไม่นานในอ่าวเม็กซิโกตอนเหนือที่ความลึก 2,750 เมตร ลักษณะตัวของมันมีสีแดง โปร่งใสมองจนเห็นระบบย่อยอาหาร มันกินเศษซากตะกอนที่อุดมสมบูรณ์เป็นอาหาร


49. เต่าคองู (Eastern Long-Necked)


       เต่าคองู เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่าชนิดหนึ่ง มีลักษณะเด่น คือ มีส่วนคอที่ยาวมากเหมือนงู หัวมีขนาดเล็ก ตากลมโต ขนาดโตเต็มที่กระดองยาว 30 เซนติเมตร อาศัยในน้ำตื้นหรือชายน้ำ จะไม่อยู่ห่างน้ำไปไกลเพราะคอที่ยาวจะทำให้การเคลื่อนไหวบนบกทำได้ไม่คล่องตัว ชอบความสะอาด มักจะหมอบราบกับพื้นท้องน้ำ และฝังตัวอยู่ในโคลนที่อ่อนนุ่ม กินอาหารจำพวกปลาหรือสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ด้วยการดูดเข้าไปในปาก พบกระจายพันธุ์บนเกาะปาปัวนิวกินีแถบทางใต้ของเกาะบริเวณช่องแคบทอเรส และตามหนองบึงทั่วไปของออสเตรเลีย เต่าคองูมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 17-50 ปี สืบพันธุ์โดยวางไข่ในเดือนพฤษภาคมและตอนปลายของฤดูฝน ฟักออกเป็นตัวในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ลูกเต่าที่ฟักออกใหม่ มีความยาว 3.7 เซนติเมตร บนกระดองหลังมีจุดด่างสีน้ำตาลดำ


50. หอยทากคิวบา (Cuban Land Snail)


       หอยทากคิวบา เป็นหอยทากที่พบได้ในประเทศคิวบา ถือเป็นหอยทากที่สวยที่สุดในโลกเพราะมันมีเปลือกที่สวยงามจนการเป็นที่ต้องการของตลาดเครื่องประดับ มีการลักลอบจับจำนวนมาก จนปัจจุบันจำนวนหอยทากคิวบาได้ลดลงอย่างน่าใจหาย



ข้อมูลและรูปภาพ : google, boredpanda, wikipedia 
เรียบเรียงโดย : lokmedee