จากคราวที่แล้วเราได้ไปดู 10 จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกันไปแล้ว ซึ่งนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ทั้งหมด 20,493.964 ตารางกิโลเมตร ส่วนจังหวัดที่เล็กที่สุดมีพื้นที่ทั้งหมดแค่ 416.707 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น จะเป็นจังหวัดไหนและมีจังหวัดอะไรบ้าง วันนี้โลกมีดีจะพาไปดู 10 จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยกัน
อันดับที่ 1 สมุทรสงคราม (Samut Songkhram) - พื้นที่ 416.707 ตารางกิโลเมตร
สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดในภาคกลาง (หน่วยงานบางแห่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคตะวันตก) มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศ คือประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศด้วย นับเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและมีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทยยาวประมาณ 23 กิโลเมตรซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นดินดอนปากแม่น้ำ มีภูเขา 1 ลูก (เขายี่สาร) ไม่มีเกาะ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มโดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกเล็กน้อย แม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีคลองสุนัขหอน เป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองเข้าด้วยกัน ไหลจากอำเภอเมืองสมุทรสาคร ออกสู่แม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ติดกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสาคร ทิศตะวันออกติดกับอ่าวไทยชั้นใน (พื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงครามทางทะเลติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี ทิศใต้ติดกับจังหวัดเพชรบุรี (อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม) และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดราชบุรี
อันดับที่ 2 ภูเก็ต (Phuket) - พื้นที่ 543.034 ตารางกิโลเมตร
ภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้และอำเภอถลาง จังหวัดที่ใกล้เคียงทางทิศเหนือ คือ จังหวัดพังงา ทางทิศตะวันออก คือ จังหวัดพังงาและจังหวัดกระบี่ ทั้งเกาะล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย และยังมีเกาะที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดภูเก็ตทางทิศใต้และตะวันออก การเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งมีเพียงเส้นทางเดียวผ่านทางจังหวัดพังงา โดยข้ามสะพานสารสินและสะพานคู่ขนาน คือ สะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร เพื่อเข้าสู่ตัวจังหวัด และทางอากาศโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตรองรับ ท่าอากาศยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ
อันดับที่ 3 นนทบุรี (Nonthaburi) - พื้นที่ 622.303 ตารางกิโลเมตร
นนทบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางเหนือ 20 กิโลเมตร มีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ปกครองทั้งหมด 622.303 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 388,939.375 ไร่ มีอาณาเขตติดกับอำเภอและจังหวัดข้างเคียงเรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้ ทิศเหนือติดกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ทิศตะวันออกติดกับเขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร (ฝั่งพระนคร) ทิศใต้ติดกับเขตบางพลัด เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร (ฝั่งธนบุรี) ทิศตะวันตกติดกับอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
อันดับที่ 4 สิงห์บุรี (Sing Buri) - พื้นที่ 822.478 ตารางกิโลเมตร
สิงห์บุรีเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 142 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 822.478 ตารางกิโลเมตร หรือ 514,049 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำเป็นอย่างมาก มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่น ๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขาและป่าไม้และไม่มีแร่ธาตุที่สำคัญ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้ ทิศเหนือติดกับอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ทิศใต้ติดกับอำเภอไชโย อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ทิศตะวันออกติดกับอำเภอบ้านหมี่และอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ทิศตะวันตกติดกับอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
อันดับที่ 5 สมุทรสาคร (Samut Sakhon) - พื้นที่ 872.347 ตารางกิโลเมตร
สมุทรสาคร เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย เป็นจังหวัดชายทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ 872.347 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 545,216 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดนครปฐม ทิศตะวันออกติดกับเขตหนองแขม เขตบางบอนและบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ทิศใต้ติดกับอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดราชบุรี สมุทรสาครมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1 - 2 เมตร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลางจังหวัด ไหลคดเคี้ยวตามแนวเหนือใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ระยะทางยาวประมาณ 70 กิโลเมตร พื้นที่ตอนบนในเขตอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบนมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีโครงข่ายแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงถึงกันกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย จึงเหมาะที่จะทำการเพาะปลูกพืชนานาชนิด และบางส่วนเป็นย่านธุรกิจ อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครอยู่ติดชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร จึงเหมาะที่จะประกอบอาชีพประมงทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและทำนาเกลือ ในช่วงฤดูฝน บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะการเกษตร
อันดับที่ 6 อ่างทอง (Ang Thong) - พื้นที่ 968.372 ตารางกิโลเมตร
จังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968.372 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 605,232.5 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือติดกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ทิศใต้ติดกับอำเภอผักไห่และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออกติดกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันตกติดกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองประมาณ 40 กิโลเมตร
อันดับที่ 7 สมุทรปราการ (Samut Prakan) - พื้นที่ 1,004.092 ตารางกิโลเมตร
สมุทรปราการเป็นจังหวัดในเขตปริมณฑล ห่างจากกรุงเทพ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1,004 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศใต้ติดอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับกรุงเทพมหานคร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางซีกตะวันตกของจังหวัด จากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่อ่าวไทย มีชายฝั่งทะเลยาว 47.5 กม. เดิมชายฝั่งทะเลมีป่าชายเลนกว้างขวาง เนื่องจากมีตะกอนที่แม่น้ำเจ้าพระยานำพามาทับถมกันที่บริเวณปากน้ำ แต่ปัจจุบันมีการบุกรุกป่าชายเลน ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง
อันดับที่ 8 ปทุมธานี (Pathum Thani) - พื้นที่ 1,525.856 ตารางกิโลเมตร
ปทุมธานี เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย อยู่ทางเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีพื้นที่การเกษตร 506,678 ไร่ หรือร้อยละ 53.03 ของพื้นที่จังหวัด (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546) พื้นที่การเกษตรมีอยู่ในทุกอำเภอ และมีมากที่สุดในเขตอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอคลองหลวงตามลำดับ โดยพื้นที่ของจังหวัดจะมีการทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นที่นา ไม้ผล และไม้ยืนต้น ตามลำดับ ในปัจจุบันนอกจากการเกษตรแล้ว ปทุมธานียังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีนิคมอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั้งจังหวัด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมเกือบร้อยละ 70 ของจังหวัดมาจากภาคอุตสาหกรรม (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2543)
อันดับที่ 9 กรุงเทพมหานคร (Bangkok) - พื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตร
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและนครที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ด้วยมีแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งทอดตัวยาว 372 กิโลเมตร พาดผ่านจังหวัด ทำให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1.5 - 2 เมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือติดกับจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศใต้ติดกับจังหวัดสมุทรปราการ และอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม
อันดับที่ 10 ปัตตานี (Pattani) - พื้นที่ 1,940.356 ตารางกิโลเมตร
ปัตตานีเป็นหนึ่งในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้สุด ติดกับทะเลจีนใต้ ปัตตานีมีพื้นที่ทั้งหมด 1,940.356 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 1,055 กิโลเมตร มีภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ ภูเขาทรายขาว ซึ่งอยู่ในทิวเขาสันกาลาคีรี มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาชีพหลักคือการทำนา สวนยาง นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด เช่น อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี ยังประกอบอาชีพประมง ซึ่งส่งผลให้เกิดผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมากมาย
ข้อมูลและรูปภาพ : google, wikipedia
เรียบเรียงโดย : lokmedee