50 สัตว์แปลกใต้ท้องทะเลลึก ที่คุณอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน


       เมื่อนึกถึงสัตว์ที่อยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร หลายคนอาจคิดถึงแต่ ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาฉลาม เต่าและสัตว์อื่น ๆ ที่เรารู้จักเพียงไม่กี่อย่าง ที่จริงแล้วในมหาสมุทรของเรานั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด หลายสายพันธุ์แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพแวดล้อมต่างๆ โลกมีดีวันนี้จะพาไปดูสัตว์แปลกๆในทะเลที่เราอาจจะยังไม่เคยเห็นมาก่อน จะมีชนิดใดบ้าง รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ไปดูชนิดแรกกันเลยครับ



1. ปลาบาร์เรลอาย (ฺBarreleye)


       ปลาบาร์เรลอาย เป็นปลาน้ำลึกที่ถูกค้นพบ อาศัยอยู่ในน้ำลึกมากกว่า 2000 ฟุต (600 เมตร) บริเวณเขตน่านน้ำ แคริฟอร์เนียกลาง ซึ่งเป็นการค้นพบสายพันธ์ใหม่ของปลาที่มีหัวเป็นโดมโปร่งใส  มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 6 นิ้ว (15 เซ็นติเมตร) บริเวณส่วนหน้าที่เห็น 2 จุดเล็กนั้นไม่ใช่ ตาแต่เป็น อวัยวะรับกลิ่น และที่เห็นเป็นโดมสีเขียวนั้นคือตัวกรองแสงอาทิตย์จากด้านบน และมีดวงตาเป็นจุดเล็กๆ เหนือรูรับกลิ่น


2. ปลาน้ำแข็งจระเข้ (Crocodile Icefish)


       ปลาน้ำแข็งจระเข้ หรือ ปลาเลือดขาว เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็น บริเวณแอนตาร์คติก้าและทางใต้ของอเมริกาใต้ พวกมันมีร่างกายใสและมีเลือดที่ใสเหมือนน้ำ เนื่องจากเลือดของมันไม่มีฮีโมโกลบินหรือไม่มีเม็ดเลือดแดง เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเพียงชนิดเดียวในโลกที่ไม่มีฮีโมโกลบิน ปลาน้ำแข็งจระเข้กิน เคย โคพีพอดส์ แพลงก์ตอน และปลาเป็นอาหาร พวกมันมีระบบเผาผลาญที่อาศัยเพียง ออกซิเจนที่ละลายในเลือดใสๆของพวกมัน ที่มีความเชื่อว่า ออกซิเจน จากน้ำถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังของปลาโดยตรง(ทั่วไปปลาจะดูดซึมออกซิเจนผ่านเหงือก)


3. หอยเบี้ยลิ้นเฟมมิงโก้ (The Flamingo Tongue Snail)


       ที่เราเห็นสีส้ม เหลือง ดำ ที่ดูสดใสบนตัวของเจ้าหอยเบี้ยลิ้นเฟมมิงโก้นั้น แต่จริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นส่วนนึงของตัวมันเอง แต่เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ปกคลุมมันอยู่ ขนาดตัวของมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.98-1.38 นิ้วเท่านั้นเอง อาศัยอยู่ในน่านน้ำเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกจากนอร์ทแคโรไลนาไปยังชายฝั่งทางตอนเหนือของบราซิล รวมทั้งเบอร์มิวดา, ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโกและแอนทิลเลสเบี้ยน


4. มังกรทะเลใบหญ้า (Weedy Sea Dragon)


       มังกรทะเลใบหญ้า เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับมังกรทะเลใบไม้ ซึ่งเป็นปลาชนิดที่ใกล้เคียงมากที่สุด เพียงแต่มังกรทะเลใบหญ้ามีระยางค์ต่าง ๆ น้อยกว่า มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 45 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยทั่วไปประมาณ 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์เฉพาะตอนใต้ของออสเตรเลียเท่านั้น และเกาะทัสมาเนีย เหมือนกับมังกรทะเลใบไม้ โดยอาศัยอยู่ตามกองหินและแนวปะการัง หรือกอสาหร่าย พบได้ในระดับความลึกถึง 50 เมตร เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการขยายพันธุ์เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน คือ ตัวผู้เป็นฝ่ายอุ้มท้อง ตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 1,200 ฟองในหน้าท้องของตัวผู้ ไข่ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนถึงจะฟักเป็นตัว ตัวอ่อนเมื่อฟักออกมาแล้วจะกินอาหารได้เลยทันทีและว่ายน้ำเป็นอิสระได้เอง


5. มังกรทะเลใบไม้ (Leafy Sea Dragon)


       มังกรทะเลใบไม้ เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งชนิดหนึ่ง เป็นวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำ มีความยาวเต็มที่ได้ประมาณ 35 เซนติเมตร พบทางตอนใต้และตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย ถือเป็นปลาเฉพาะถิ่น มักอาศัยอยู่ในกระแสน้ำอุ่นในความลึกตั้งแต่ 3-50 เมตร มีจุดเด่นตรงที่มีครีบต่าง ๆ ลักษณะคล้ายใบไม้หรือสาหร่ายทะเล ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามที่สุดในโลก ซึ่งครีบเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ว่ายน้ำแต่ใช้สำหรับอำพรางตัวจากศัตรูและยังใช้หาอาหารอีกด้วย กินอาหารจำพวกแพลงก์ตอน, กุ้งและครัสเทเชียนขนาดเล็กๆ การผสมพันธุ์และวางไข่ เนื่องจากมังกรทะเลใบไม้ไม่มีถุงหน้าท้องเหมือนม้าน้ำ แต่ตัวเมียมีไข่ติดอยู่กับใกล้ส่วนหางซึ่งเต็มไปด้วยเส้นเลือดที่มีอยู่มากมายซึ่งพัฒนาขึ้นมาเฉพาะตัวผู้ในช่วงผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อผสมพันธุ์กันตัวเมียจะวางไข่บริเวณหางของตัวผู้ซึ่งจะม้วนงอเข้า ปริมาณไข่ราว 100-200 ฟอง หรือเต็มที่ 250 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็นตัวราว 4-6 สัปดาห์


6. หมึกแก้ว (Glass Squid)


       หมึกแก้วเป็นปลาหมึกตาโตขนาดใหญ่และลักษณะของตาจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของมัน รูปร่างบวมกลมยาวเหมือนซิการ์ หนวดเล็ก ขนาดตั้งแต่ 10 เซนติเมตรไปจนถึง 3 เมตร จุดเด่นคือตัวมันใสมากๆ จนเห็นภายในเลยก็ว่าได้ ทำให้มันสามารถพรางตาหลบสัตรูหรือหาอาหารก็ได้ พบอยู่ในทะเลลึกเกือบทั่วโลก อาหารของมันคือแพลงก์ตอน


7. หมีน้ำ (Water Bear)


       หมีน้ำ เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเพียง 1.5 มิลลิเมตร ส่วนตัวที่เล็กที่สุดมีขนาดเพียง 0.1 มิลลิเมตร มันมีมากกว่า 1000 สายพันธุ์ โดยมากเป็นพวกกินพืช ส่วนน้อยกินแบคทีเรีย และกินสัตว์ สามารถพบได้ทั่วโลก ตั้งแต่ที่ยอดเขาหิมาลัยที่ความสูงกว่า 6,000 เมตร จนถึงในทะเลลึกถึง 4,000 เมตร ไม่ว่าจะเป็นที่ขั้วโลกหรือในบริเวณเส้นศูนย์สูตร มันอยู่ได้ในที่ที่มีแรงดันสูงถึง 6,000 atm ซึ่งแรงดันปกติที่มนุษย์อยู่ทุกวันนี้คือแรงดันบรรยากาศ มีค่าเท่ากับ 1 atm เท่านั้น หมีน้ำได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ทรหดที่สุดในโลก มันสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -272.8°C (ได้ประมาณ 1 นาที ) และที่ -200°C ( อยู่ได้ประมาณ 1 วัน ) สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 151 °C ทนรังสีได้มากกว่ามนุษย์ถึง 1,000 เท่า


8. แตงกวาทะเล (Transparent Sea Cucumber)


       แตงกวาทะเล เป็นสัตว์ที่พึ่งถูกค้นพบได้ไม่นานในอ่าวเม็กซิโกตอนเหนือที่ความลึก 2,750 เมตร ลักษณะตัวของมันมีสีแดง โปร่งใสมองจนเห็นระบบย่อยอาหาร มันกินเศษซากตะกอนที่อุดมสมบูรณ์เป็นอาหาร


9. แมงกินลิ้น Tongue-eating Louse


       แมงกินลิ้น เป็นปรสิตจำพวกกุ้ง กั้ง ปู มีความยาวตั้งแต่ 3-4 เซนติเมตร แมงกินลิ้นจะเข้าไปในปากของปลาทางเหงือกและเกาะที่ลิ้นของปลา แมงกินลิ้นจะใช้ก้ามที่ขาสามคู่หน้าหนีบลิ้นของปลาไว้ทำให้เลือดออก ยิ่งแมงกินลิ้นตัวโตขึ้น ลิ้นของปลาก็จะมีเลือดไหลเวียนได้น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งลิ้นนั่นฝ่อเนื่องจากขาดเลือด จากนั้นแมงกินลิ้นจะเอาตัวเองติดกับกล้ามเนื้อลิ้น ซึ่งปลาจะใช้แมงกินลิ้นได้เหมือนลิ้นปกติ แมงกินลิ้นจะดูดเลือดหรือไม่ก็กินเนื้อเยื่อของของปลาเป็นอาหาร โดยไม่ได้กินเศษอาหารของปลาแต่อย่างใด ได้มีการพบปลาที่ถูกแมงกินลิ้นเกาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งปกติแล้วจะพบแมงกินลิ้นในแถบชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้มีการคาดเดาว่าแมงกินลิ้นอาจจะเพิ่มถิ่นหากินมากขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ว่าแมงกินลิ้นตัวนี้อาจจะเพียงแต่ติดไปกับปลาซึ่งว่ายน้ำไปจากอ่าวแคลิฟอร์เนียเพียงตัวเดียว


10. ดาวขนนก (Feather Star)


       ดาวขนนก เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับดาวทะเล หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า ปลาดาว ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ปลาและไม่ได้มีส่วนคล้ายกับปลาเลย โดยส่วนใหญ่สัตว์ทะเลกลุ่มนี้จะคืบคลานหากินอยู่บนพื้นทรายใต้ท้องทะเล แต่ดาวขนนกแตกต่างจากพวกนั้นเพราะมันชอบเกาะอยู่บนโขดปะการังหรือยอดหินบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลผ่าน ยิ่งน้ำไหลแรงมันยิ่งชอบ เพราะเจ้าดาวขนนกนั้นจะคลี่รยางค์แขนจำนวนมากออกไปเพื่อดักจับอาหารที่ลอยมากับกระแสน้ำส่งเข้าไปทางช่องปากที่อยู่ตรงศูนย์กลางลำตัวด้านล่าง มันมีอวัยวะยึดเกาะที่อยู่ด้านล่างลักษณะคล้ายรากของต้นโกงกาง คอยเกาะจับเกาะกับพื้นปะการังอย่างมั่นคงไม่ว่ากระแสน้ำจะไหลแรงเพียงใด


11. ซาล์ป (Salp)


       ซาล์ป เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ตัวของมันจะโปร่งใส ยาวประมาณ 1-10 เซนติเมตร ลักษณะกลม ตรงกลางป่อง และมักต่อเป็นลูกโซ่เคลื่อนตัวตามกระแสน้ำ กินสาหร่าย โดยการอ้าปากรับน้ำทะเข้าไปแล้วก็กรองน้ำออก เก็บส่วนที่เป็นอาหารไว้ ซาล์ปถือว่าเป็นสัตว์ที่ช่วยลดโลกร้อนได้ เพราะเวลาซาล์ปกินสาหร่ายเข้าไป ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในสาหร่ายก็จะถูกขับออกมาในรูปของเสียแล้วก็จมลงสู่พื้นทะเล จึงทำให้ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผิวน้ำลดลง มักพบได้ในเขตน่านน้ำต่างๆ ของประเทศออสเตรเลีย


12. แมงป่องทะเล (Sea Scorpion)


       แมงป่องทะเล เป็นสัตว์ขาปล้องที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 470 ล้านปี ถึง 370 ล้านปีที่แล้ว ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ลักษณะทั่วไปของมันก็ตามชื่อเลย คือ มีก้ามหน้าเป็นคีมใหญ่ๆ สองอัน และมีหางยื่นออกไปยาวๆ เหมือนแมงป่อง ปลายหางอาจเป็นหนามแหลมหรือแผ่นแบนก็ได้ แมงป่องทะเลบางชนิดอาจมีความยาวสูงสุดได้ถึง 2.5 เมตร ตัวอย่างได้แก่เจ้าของฟอสซิลก้ามที่ถูกขุดพบในปี 2007 ถือว่าเป็นสัตว์ขาปล้องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตบนโลกนี้


13. หวีวุ้น (Comb Jelly)


       หวีวุ้น เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับแมงกะพรุน มีลำตัวใส เป็นทรงกลม มีแผ่นหวีที่ช่วยให้หวีวุ้นเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างมีประสิทธิภาพในทะเล หวีวุ้นเป็นนักล่าที่ดุร้าย โดยใช้แส้เส้นยาวๆ 2 เส้น เป็นเครื่องมือจับเหยื่อส่งเข้าปาก บนแส้ทั้งสองมีกาวที่มีคุณสมบัติเป็นเลิศซึ่งสามารถดักจับเหยื่อ คล้ายกับทำให้เกิดอาการชาและติดแน่นบนแส้ ลำตัวหวีวุ้นประกอบด้วยเซลล์ที่เปล่งแสงเรืองอย่างสวยงามในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นคุณสมบัติอีกข้อหนึ่ง ที่ช่วยล่อเหยื่อให้ติดกับได้


14. หมูทะเล (Sea Pig)


       หมูทะเล เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มปลิงทะเลน้ำลึก มีลักษณะอ้วนกลม ผิวสีชมพู มีปากที่คล้ายจมูกหมู จึงไม่แปลกที่พวกมันจะถูกเรียกว่า "หมูทะเล" กินอาหารพวกเศษซากพืช ซากสัตว์ ที่ปะปนอยู่ในโคลนของพื้นทะเล พบได้ในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่ความลึกมากกว่า 1,000 เมตร


15. แบล็ค สวอลโลว์ (Black Swallower)


       แบล็ค สวอลโลว์ เป็นปลาทะเลน้ำลึก มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร ซึ่งสามารถขยายท้องตัวเองได้ 3 - 4 เท่าของขนาดตัวปกติ และมีขากรรไกรที่กว้าง ดังนั้นมันจึงสามารถกลืนปลาที่มีขนาดใหญ่กว่ามันได้ ปลาชนิดนี้จะอยู่ใต้ทะเลลึกประมาณ 700-2,745 เมตร พบได้ในเขตร้อนทั่วโลก


16. หนอนบอบบิท (Bobbit Worm)


       หนอนบอบบิท เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเล โตเต็มที่มีความยาวถึง 3 เมตร มันมีอาวุธและวิธีมากมายที่จะใช้ฆ่าเหยื่อของมัน นั่นรวมไปถึงเขี้ยวของมันที่จะตัดเหยื่อขาดเป็นสองท่อน หรือแม้กระทั่งพ่นพิษใส่เหยื่อเพื่อที่จะได้กินง่ายๆ พวกมันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตน้ำอุ่นที่ความลึกประมาณ 150 เมตร และยังพบได้ทั่วโลกอีกด้วย


17. ปลาฉลามกอบลิน (Goblin Shark)


       ฉลามก็อบลิน เป็นปลาฉลามน้ำลึกที่พบเห็นตัวได้ยาก เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในวงศ์และสกุลเดียวกันนี้ก็ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็น "ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต" มีความยาวเต็มที่ 3 - 4 เมตร ปลาฉลามกอบลินมีลักษณะเด่น คือ บริเวณส่วนหัวด้านบนที่มีส่วนกระดูกที่ยื่นแหลมออกไปข้างหน้าเหนือกรามบน ในปากเต็มไปด้วยฟันที่แหลมคม ซึ่งส่วนหัวที่ยื่นยาวออกไปนั้น ด้านล่างประกอบไปด้วยอวัยวะเล็ก ๆ หลายร้อยอันที่ทำหน้าที่เหมือนเซนเซอร์ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เพื่ออาหารซึ่งได้แก่ ปู หรือสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ ที่หลบซ่อนตัวลงในพื้นโคลนใต้ทะเล ซึ่งเป็นสถานที่หาอาหารได้ยากยิ่ง อีกทั้งกรามยังสามารถขยายออกมาเพื่อพุ่งงับเหยื่อมิให้หลุดไปได้อีกด้วย ฉลามก็อบลินอาศัยอยู่ในเขตน้ำลึกได้มากกว่า 100 เมตร ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกแถบมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ไล่ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติคและมหาสมุทรอินเดียตอนใต้


18. ดาวตะกร้า (Basket Star)


       ดาวตะกร้า เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลจำพวกหนึ่ง เป็นสัตว์ทะเลที่มีวิวัฒนาการน้อยที่สุดในกลุ่มสัตว์ไฟลัมเอไคโนดอร์มาทา (Echinodermata) โดยถือกำเนิดมาจากยุคคอร์บอนิฟอรัส มีลักษณะคล้ายดาวเปราะ ทั่วไปอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล มีแขนหลายแขน มีอายุยืนเต็มที่ได้ถึง 35 ปี และมีน้ำหนัก 5 กิโลกรัม เหมือนกับสัตว์จำพวกอื่นในไฟลัมเดียวกัน คือ แลกเปลี่ยนแก๊สและระบบไหลเวียนโลหิตตามท่อลำเลียง เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไฟลัมเอไคโนดอร์มาทา มีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 14 เซนติเมตร


19. ปลาบร็อบ (Blob Fish)


       ปลาบร็อบสามารถพบเจอได้ในก้นทะเลซึ่งมีความกดอากาศมากกว่าระดับทะเลทั่วไป ถึง 12 เท่า โดยปกติแล้วความกดอากาศมากขนาดนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของกระเพาะปลาลดต่ำลง แต่ปลาบร็อบมีหนังเป็นแพวุ้นหุ้มหนาแน่นยิ่งกว่าท้องน้ำ จึงลอยตัวอยู่เหนือพื้นทะเลได้โดยไม่หมดกำลัง ใช้พลังงานน้อยที่สุด จึงทำให้ปลาบร็อบไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อ และข้อดีอย่างแรกก็คือมันสามารถทิ้งตัวลงมาจับเหยื่อจากด้านบนจึงเป็นการดีกว่าจะเข้าจู่โจมจากด้านหน้า เพราะอาจจะได้รับอันตรายจากการที่เหยื่อต่อสู้ได้ ปลาบร็อบอาศัยในน้ำลึกนอกชายฝั่งออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่และในแทสแมเนีย


20. ปลานกฮูก (Flying Gurnard)


       ปลานกฮูก เป็นปลาขนาดราวๆ 20 เซ็นติเมตร มีดวงตากลมโต ผิวหนังปกคลุมด้วยเกล็ดเล็กๆ เลื่อมทอง เขียวและน้ำเงินสดใส สองข้างตัวเป็นครีบขนาดใหญ่คล้ายกับปีกที่กึ่งโปร่งใส พบได้ในเขตอุ่นของมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก


21. หมึกดัมโบ (Dumbo Octopus)


       หมึกดัมโบเป็นหมึกตระกูล “Grimpoteuthis” แต่ที่เรียกว่า หมึกดัมโบ้ เนื่องจากหมึกสายพันธุ์นี้มีครีบที่เหมือนใบหูบนหัว คล้ายกับช้างน้อยบินได้ชื่อ “ดัมโบ” จากการ์ตูนดังของวอลต์ ดิสนีย์ ครีบนี้ช่วยให้มันว่ายน้ำได้สะดวก โดย หมึกดัมโบจะเคลื่อนที่ด้วยแรงดันน้ำจากน้ำที่ดูดเข้าไป ทรงตัวด้วยแขนและครีบซึ่งกระพือ มองดูคล้ายพวกมันบินอยู่ใต้ท้องน้ำลึก หมึกดัมโบว่ายน้ำลอยเหนือพื้นทะเลได้เล็กน้อย ขณะมองหาเหยื่อ เช่น หนอนทะเล ปลาตัวเล็ก ดัมโบมีร่างกายอ่อนนุ่ม และกึ่งโปล่งใส มีครีบขนาดใหญ่ สองอันบนร่างกาย พังผืดยึดระหว่างหนวด อาศัยอยู่ในทุกมหาสมุทรที่ระดับน้ำลึกตั้งแต่ 3,000-7,000 เมตร ซึ่งลึกเกินกว่าหมึกสายพันธุ์อื่นจะมีชีวิตอยู่ได้ ปกติหมึกดัมโบมีขนาดราว 20 เซนติเมตร แต่เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้หมึกดัมโบสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดมีขนาดราว 1.8 เมตร และหนักถึง 5.9 กิโลกรัม อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนสีผิวเพื่อพรางตัวได้ด้วย


22. ปลากบ (Frogfish)


       ปลากบ เป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มของปลานักตกเบ็ด (Anglerfish) ซึ่งมีญาติ ๆ รวมกันราว 300 ชนิด ตัวโตเต็มที่ที่มีขนาดประมาณ 22 เซนติเมตร ลักษณะเด่นของปลาในกลุ่มนี้ก็คือ จะมีก้านครีบด้านบนหัวที่พัฒนาขึ้นมาเป็นก้านเล็ก ๆ ยาวใสคล้าย ๆ คันเบ็ด และที่ปลายก้านครีบนี้จะมีพู่เล็ก ๆ ที่มองดูเหมือนเหยื่อตกปลาติดอยู่ส่วนบนของหัว โดยก้านครีบเล็ก ๆ บนหัวที่คล้ายเป็นคันเบ็ดประจำตัวนี้จะพับไว้บนหัว หรือยื่นตรงออกมา แล้วส่ายไปมา เพื่อให้ปลาที่เป็นเหยื่อหลงกล คิดว่าพู่เล็ก ๆ ที่ปลายคันเบ็ดนั้นเป็นเหยื่อจำพวกกุ้ง หรือปลาตัวเล็ก ๆ เมื่อปลาที่สนใจว่ายเข้ามาใกล้หมายจะจับกินเหยื่อเล็ก ๆ นั้นเป็นอาหาร ก็จะถูกปลากบ หรือปลานักตกเบ็ดใช้ปากที่กว้างใหญ่ฮุบกินเป็นอาหาร


23. ปักเป้ากล่องเหลืองจุดดำ (Yellow Box Fish)


       ปลาปักเป้ากล่องเหลืองจุดดำ หรือ ปลาปักเป้ากล่องจุดเหลือง เป็นปลาปักเป้าชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาปักเป้ากล่อง (Ostraciidae) ลำตัวมีเกราะหุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูในแนวตัดขวาง ปากมีขนาดใหญ่และมีฟันซี่เล็ก ๆ ครีบหางใหญ่ แต่ครีบอื่น ๆ เล็ก เหมือนปลาปักเป้าชนิดอื่นทั่วไป ลำตัวเป็นสีเหลืองและมีจุดกลม ๆ เล็ก ๆ สีดำประค่อนข้างมากโดยเฉพาะที่ส่วนหัว มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร เป็นปลาที่หากินอยู่ตามลำพัง โดยว่ายน้ำช้า ๆ ในแนวปะการังใกล้ชายฝั่ง กินอาหารซึ่งเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ ตามโพรงหินของปะการัง ปลาขนาดใหญ่ พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ในน่านน้ำไทยพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง จัดเป็นปลาที่พบบ่อย


24. ปลาขวาน (The Hatchetfish)


      ปลาขวาน เป็นปลาน้ำลึกที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อน มีขนาดเล็กไม่เกิน 5 นิ้ว พวกมันอาศัยอยู่ในน้ำลึกประมาณ 650-3,000 ฟุต มันกินสัตว์น้ำลึกที่ตัวเล็กกว่ามันเป็นอาหาร ตัวของสามารถผลิตสารเรืองแสงได้เช่นเดียวกับหิ่งห้อย ปลาขวานจึงสามารถปรับแสงในตัวเองได้ ทั้งนี้ด้านนักผิวของมันจะสะท้อนน้ำคล้ายกระจก เมื่อลึกลงไปในน้ำ จึงมองเห็นตัวของมันได้ยาก ถึงน่าตาของมันจะดูโหดร้ายแต่มันเป็นปลาที่ไม่มีอันตราย


25. ปลาปักเป้ากล่องเขาวัว (Longhorn Cowfish)


       ปลาปักเป้ากล่องเขาวัว เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งทะเลวงศ์หนึ่งในอันดับปลาปักเป้า ลักษณะจะมีรูปทรงป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงและการเคลื่อนไหวจะมีความคล่องแคล่วกว่าปลาปักเป้าในวงศ์อื่น และมักจะมีขนาดเล็ก มีสีสันลวดลายสวยงาม เกล็ดเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเรียงตัวต่อกัน อีกทั้งปลาในวงศ์นี้มีพิษที่ต่างออกไปจากปลาปักเป้าในวงศ์อื่น กล่าวคือ มีสารพิษชนิดออสทราซิท็อกซิน (Ostracitoxin) ที่ผลิตขึ้นมาจากต่อมที่ผิวหนัง และสามารถขับออกมาพร้อมกับเมือกที่หุ้มตัวอยู่ ซึ่งสามารถละลายในน้ำได้ ซึ่งพิษชนิดนี้จะเป็นพิษกับปลาด้วยกัน ทำให้ปลาอื่นที่อยู่บริเวณเดียวกันเมื่อได้รับสารพิษตายได้ ซึ่งจะขับออกมาเมื่อได้รับความเครียดหรือตื่นตกใจ อันเป็นกลไกลหนึ่งในการป้องกันตัว ปลาปักเป้ากล่อง มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในทะเลเท่านั้น ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก, อินเดีย และแปซิฟิก พบทั้งหมด 33 ชนิด


26. ปลาเเลมป์เพรย์ (Lamprey)


       ปลาแลมเพรย์เป็นปลาไหลชนิดหนึ่ง ลำตัวด้านหลังมักจะเป็นสีดำ มีครีบหลังและครีบหาง แต่ไม่มีครีบคู่ ไม่มีเกล็ด ปากจะอยู่ค่อนลงมาทางด้านท้อง มีลักษณะคล้ายแว่นใช้สำหรับดูด ปากกลมซึ่งไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นมาบังคับขากรรไกรให้อ้าและหุบแบบปัจจุบัน พวกมันต้องการเพียงปากที่มีตะขอสำหรับเกาะเหยื่อเพื่อดูดเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหาร และดำรงชีพเป็นปรสิตเมื่อดูดเลือดของเหยื่อจนตัวเหยื่อแห้งก็จะปล่อยแล้วหาเหยื่อใหม่ แลมเพรย์มีหลายชนิด บางชนิดไม่จำเป็นต้องดำรงแบบปรสิต มีทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล และมีกระจายอยู่ทั่วโลก คือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป อาฟริกาตะวันตก ญี่ปุ่น ชิลี นิวซีแลนด์ และ ทาสเมเนีย


27. แฟงค์ทูธ (Fangtooth)


       แฟงค์ทูธ เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึก และถึงแม้ว่ารูปร่างของมันนั้นจะมีรูปร่างเหมือนกันอย่างกับสัตว์ประหลาดนั้น แต่ว่าเมื่อมันมีการโตเต็มวัยนั้นมันก็จะมีความยาวเพียงแค่ 6 นิ้ว เท่านั้น และลำตัวนั้นจะสั้นแต่ว่าจะมีหัวที่มีขนาดใหญ่ เป็นปลาที่มีฟันที่แหลมคมและยาว เหมือนกับเขี้ยวที่เรียงตัวกันอยู่ในปากที่มีขนาดใหญ่นั่นเอง แฟงค์ทูธอาศัยอยู่ในใต้ทะเลน้ำลึกลงไปถึง 16,000 ฟุต และด้วยความลึกขนาดนี้นั้นก็จะทำให้แรงดันน้ำนั้นมีระดับที่สูงและเย็นมากจนแทบที่จะเป็นน้ำแข็งเลยทีเดียว และในเรื่องของอาหารของแฟงค์ทูธนั้นก็จะหาได้ยาก มันจึงทำให้แฟงค์ทูธนั้นกินทุกอย่างที่ขว้างหน้าที่หากินได้ และสำหรับอาหารส่วนใหญ่แล้วนั้นก็จะตกลงมาจากทะเลด้านบน เจ้าแฟงค์ทูธสามารถพบได้ในเขตอบอุ่นและร้อนชื้นทั่วโลกรวมไปถึงทวีปออสเตรเลียด้วย


28. ปลาค้างคาวปากแดง (Red-Lipped Batfish)


       ปลาค้างคาวปากแดง พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลก มีลักษณะเด่นคือ ริมฝีปากสีแดงสด พวกมันไม่ได้เป็นนักว่ายน้ำที่ดี เลยต้องปรับตัวโดยมีครีบแข็งบริเวณใต้ท้องของมันที่ทำหน้าที่เหมือนกับขาที่ใช้ในการคลานหรือเดินบนพื้นมหาสมุทร พบได้ทั่วหมู่เกาะกาลาปากอสที่ระดับความลึก 30 เมตรหรือมากกว่า ปลาค้างคาวปากแดง (Red-Lipped Batfish) มีความสัมพันธุ์ใกล้ชิดกับ ปลาค้างคาวปากสีดอกกุหลาบ (Rosy-Lipped Batfish) ซึ่งจะพบอยู่แถวเกาะโคโคส บริเวณนอกชายฝั่งของประเทศคอสตาริกา


29. ปลาไหลริบบิ้น (Ribbon Eel)


       ปลาไหลริบบิ้น เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาไหลมอเรย์ มีขนาดเล็ก มีสีสันสดใส และสามารถเปลี่ยนเพศได้ตามวัย นั้นคือเมื่อยังเล็ก ลำตัวเป็นสีดำ โดยที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย แต่เมื่อโตขึ้นลำตัวเป็นสีน้ำเงินและเป็นตัวผู้และเมื่อมีอายุมากขึ้นอีกลำตัวเป็นสีเหลืองและกลายเป็นตัวเมีย กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยปลาไหลจะยืดตัวออกจากรูเพื่อหาอาหาร โดยปกติจะซ่อนตัวอยู่ในรูตามพื้นทะเล ซึ่งเป็นทราย มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร เป็นปลาที่พบได้น้อย กระจายพันธุ์อยู่ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ในน่านน้ำไทยก็พบได้น้อย โดยพบได้ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เช่น เกาะเต่า, หมู่เกาะสิมิลัน เป็นต้น


30. แอกโซลอเติล (Axolotl)


       แอกโซลอเติล เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่ง เป็นซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก ที่มีถิ่นที่อยู่ค่อนข้างจำกัด โดยจะพบได้เฉพาะทะเลสาบหรือพื้นที่ชุ่มน้ำใกล้กับกรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโกเท่านั้น จุดเด่นของแอกโซลอเติลก็คือ มีพู่เหงือกสีแดงสดซึ่งเป็นอวัยวะช่วยในการหายใจซึ่งติดตัวมาตั้งแต่ฟักออกจากไข่ โดยที่ไม่หายไปเหมือนกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกอื่น เช่น กบหรือซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่น ซึ่งที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกประการหนึ่งของแอกโซลอเติล คือ เมื่ออวัยวะไม่ว่าส่วนใดของร่างกายขาดหายไปจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกหรืออวัยวะสำคัญภายในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด แอกโซลอเติลยังเป็นสัตว์ที่ไม่มีเปลือกตา และของเหลวที่ขับออกมาเป็นของเสียออกจากร่างกายก็ไม่ใช่ปัสสาวะ แต่เป็นน้ำที่ผ่านเหงื่อ อีกทั้งยังมีสีผิวแตกต่างกันหลากหลายด้วย เช่น สีน้ำตาลเข้ม สีดำ สีส้ม สีขาวตาดำ หรือแม้กระทั่งสีขาวตาแดงหรือสภาพที่เป็นอัลบิโน แอกโซลอเติลมีความยาวเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะมีขนาดเฉลี่ย 15 เซนติเมตร มีอายุยืนยาวประมาณ 15 ปี โดยอาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ซึ่งจัดว่าค่อนข้างเย็น กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง หอยชนิดต่าง ๆ รวมถึงไส้เดือนดินหรือไส้เดือนน้ำ เป็นต้น


31. บลูซีซลัก (Glaucus Atlanticus)


       บลูซีซลัก มันเป็นสัตว์จำพวกหอย แต่จะมีรูปร่างลักษณะที่แปลกประหลาดไปจากหอยทั่วไป ตัวโตเต็มที่มีความยาวเพียง 3 เซนติเมตร แม้จะมีขนาดเล็กแต่พิษที่ซ่อนอยู่ในตัวมันสร้างความเจ็บปวดไปสู่หัวใจและปอดได้ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต มันสามารถลอยอยู่เหนือผิวน้ำได้ด้วยการพองถุงก๊าซในกระเพาะอาหารของตัวมันเอง สีฟ้าของตัวมันสามารถอำพรางให้กลมกลืนกับน้ำทะเลได้เป็นอย่างดี กินสัตว์เล็กๆรวมไปถึงสัตว์มีพิษขนาดเล็กเป็นอาหาร หอยบลูซีซลักจะแพร่กระจายในมหาสมุทรทั่วโลกในน่านน้ำเขตร้อนเท่านั้น


32. หมึกหิงห้อย (Firefly Squid)


       หมึกหิ่งห้อย คือหมึกเรืองแสง ขนาดโตเต็มที่ 3 นิ้ว หมึกพันธุ์นี้ผลิตแสงได้เพราะมีอวัยวะพิเศษที่เรียกว่า Photophores รวมพลังกันขับลำแสงสีฟ้าระยิบระยับยามค่ำคืน หมึกหิ่งห้อยอาศัยอยู่ใต้ทะเลที่ลึกประมาณ 1,200 ฟุต และถูกแรงดันจากคลื่นซัดขึ้นมาเรืองแสงอยู่บนผิวน้ำ โดยฤดูวางไข่ของหมึกหิ่งห้อยจะรวมตัวกันผสมพันธุ์และวางไข่ที่ อ่าวโทมายะ ซึ่งถือเป็นสถานที่ซึ่งงดงามไปด้วยหมึกหิ่งห้อย และมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งในเรื่องรูปลักษณ์และรสชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งอาหารอันโอชะของประเทศญี่ปุ่น


33. ปลานอร์ทเธิน สตาร์เกเซอร์ (Northern Stargazer)


       นอร์ทเธิน สตาร์เกเซอร์ เป็นปลาที่อาศัยอยู่ก้นทะเล มีความยาวประมาณ 56 เซนติเมตร ใบหน้าแบน มีปากขนาดใหญ่ ชอบฝังตัวอยู่ในทรายเพื่อรอเหยื่อจำพวก กุ้ง ปู ปลา อาศัยอยู่บนชายฝั่งตะวันออกระหว่างรัฐนอร์ทแคโรไลนากับนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา อาศัยอยู่ในใต้ทะเลลึกลงไป 120 ฟุต (36 เมตร)


34. กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี (Mantis Shrimp)


       กั้งตั๊กแตนเจ็ดสี เป็นกั้งที่มีสีสวย มีขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มักอยู่ตามพื้นทราย นอกเขตแนวปะการัง บางครั้งอาจพบได้ในเขตน้ำตื้น แต่บางครั้งอาจเดินอยู่บนพื้นเพื่อหาอาหาร ได้แก่ หอยฝาเดียว, กุ้ง, ปู หรือปลาขนาดเล็ก ตามีการพัฒนาสูงสุด สามารถสแกนภาพได้ โดยใช้เส้นขนานกลางตาเพื่อเล็งเหยื่อ ก่อนใช้ขาคู่หน้าดีดไปอย่างแรง ลักษณะคล้ายตั๊กแตนตำข้าวจับเหยื่อ อาจใช้ดีดจนกระดองปูหรือเปลือกหอยแตกได้ มันมีพฤติกรรมหลบซ่อนอยู่ในรู โดยโผล่มาแต่เฉพาะส่วนหัว แต่ถ้าเดินหากินอยู่ไกลโพรง เมื่อพบเจอกับศัตรู บางครั้งจะชูตัวยกขึ้นแล้วชูขาหน้าเพื่อขู่ศัตรู หากไม่ได้ผลจะงอตัวกลิ้งกับพื้น หากจวนตัวจะดีดตัวอย่างรวดเร็วพุ่งหายไป พบในความลึกไม่เกิน 20 เมตร กระจายพันธุ์ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่เกาะกวมจนถึงแอฟริกาตะวันออก ในน่านน้ำไทยพบได้น้อยทางฝั่งอ่าวไทย แต่จะพบได้มากกว่าทางฝั่งทะเลอันดามัน


35. ปูเยติ (Yeti Crab)


       ปูเยติ ปูชนิดนี้ถูกค้นพบในทะเลลึกแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างออกไปทางใต้จากเกาะอิสเตอร์ราว 1,500 กิโลเมตร ในเขตน่านน้ำของประเทศชิลี การค้นพบนี้เป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากการที่มีเรือดำน้ำลงไปสำรวจทะเลที่ความลึก 2,200 เมตร และพบว่ามีตัวแปลกๆ เกาะอยู่ที่รอยแยกตรงพื้นทะเล ด้วยลักษณะที่มีขนปกคลุมจึงถูกเรียกว่า เยติ มาเรื่อย นอกจากนี้ปูเยติ ยังมีก้ามที่มีลักษณะสีสันสวยงามโดยมักจะยื่นก้ามเข้าไปในน้ำแร่ร้อนที่พ่นออกตามรอบแยกของพื้นทะเล ทั้งนี้ก็ยังปริศนาอีกประการว่าการกระทำเช่นนี้ทำไปเพื่ออะไร


36. ไอโซพอดยักษ์ (Giant Isopod)


       ไอโซพอดยักษ์ คือสัตว์มีกระดองเป็นญาติของกุ้งและปู อาศัยอยู่ตามพื้นสมุทรมีเปลืองแข็งๆที่ห่อหุ้มร่างไว้ สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 16 นิ้ว อยู่ในระดับลึกตั้งแต่ 170 - 2140 เมตร พบได้ในทะเลที่มีความหนาวเย็น แถบมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดีย


37. หนอนหมึก (Squid Worm)


       หนอนหมึก เป็นหนอนทะเลชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บริเวณก้นทะเลเซลีเบสระหว่างอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ เมื่อโตเต็มวัยหนอนหมึกมีความยาวประมาณ 9.4 เซนติเมตร และสามารถเคลื่อนที่ในแนวตั้งโดยใช้ครีบเล็กๆ ที่เรียงตลอดความยาวลำตัว หัวของมันมีหนวดยาวยื่นคล้ายปลาหมึก และมีอวัยวะรูปเกลียวด้านหลังคอที่ช่วยในการรับกลิ่นรสในทะเล ทีมนักชีววิทยาทางทะเลแห่งสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์สคริปปส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นผู้ค้นพบสัตว์ประหลาดชนิดนี้ในทะเลเซลีเบส ที่ความลึก 2.8 กิโลเมตร หนอนหมึกจะลอยตัวอยู่เหนือพื้นทะเลประมาณ 100-200 เมตร ซึ่งเป็นระดับความลึกที่พบสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่หลายชนิด


38. ปลานกแก้ว (The Blue Parrotfish)


       ปลานกแก้ว เป็นปลาทะเลกระดูกแข็ง มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร เกล็ดมีขนาดใหญ่ เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง เป็นปลาที่กินฟองน้ำ ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้ายๆจะงอยปากนกแก้วเพื่อใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้ ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน ปลานกแก้วอาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด


39. ปลาแสงอาทิตย์ (Mola Mola)


       ปลาแสงอาทิตย์ หรือ ปลาโมลา โมลา เป็นปลาที่มีรูปร่างประหลาด เนื่องจากมีรูปร่างเป็นทรงกลม ส่วนหัวมีขนาดใหญ่จนดูคล้ายมีแต่เพียงหัวอย่างเดียว ขณะที่ส่วนครีบต่าง ๆ ถูกหดสั้นลง โดยส่วนครีบหลังมีขนาดใหญ่ตั้งยาวขึ้นไปข้างบน และครีบก้นให้มีขนาดใหญ่ยื่นยาวลงมาด้านล่างลำตัว แม้จะแลดูมีรูปร่างประหลาดแต่ก็ยังเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้และมีความเร็วมากพอที่จะจับกินแมงกะพรุนทัน ซึ่งเป็นอาหารหลัก มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.2 เมตร และมีน้ำหนักได้มากถึง 2,300 กิโลกรัม หรือมากกว่า 2 ตัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นปลากระดูกแข็งที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก ปลาที่ไม่มีเกล็ด มีผิวหนังที่หนาหยาบและยืดหยุ่น และมีเมือกหนา ทำหน้าที่เสมือนเกราะหุ้มตัวไปตามอายุ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันตัว โดยเฉพาะจากเข็มพิษของแมงกะพรุนซึ่งเป็นอาหารหลัก บางตัวอาจมีหนังหนาถึง 15 มิลลิเมตร ปลาแสงอาทิตย์ สามารถพบได้ในทะเลเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งสถานที่ ๆ พบมากที่สุด คือ เกาะบาหลี ในอินโดนีเซีย มีรายงานว่าพบได้ในความลึกถึง 400 เมตร


40. นาร์วาล (Narwhal)


       นาร์วาล เป็นวาฬมีฟันขนาดกลาง เป็นหนึ่งในสองของสปีชีส์วาฬวงศ์โมโนดอนติแด เช่นเดียวกับวาฬเบลูกา นาร์วาลเพศผู้มีลักษณะที่โดดเด่นคือ มีงาที่ยาว ตรง เป็นเกลียวที่ยื่นมาจากกรามบนด้านซ้ายของพวกมัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือ ฟันเพียงซี่เดียวของพวกมันที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ปัจจุบันยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่ามีไว้สำหรับทำอะไร เพราะนาร์วาลไม่ได้ใช้งาตรงนี้ในการขุดเจาะหาอาหารหรือต่อสู้กันเอง นาร์วาลใช้ชีวิตตลอดทั้งปีที่บริเวณอาร์กติก พบในบริเวณอาร์กติกของแคนาดาและเขตทะเลของกรีนแลนด์ หาได้ยาก นาร์วาลเป็นนักล่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเขตอาร์กติก มันกินเหยื่อบริเวณพื้นใต้น้ำเป็นอาหาร โดยเป็นปลาซีกเดียวเป็นส่วนใหญ่ ที่ระดับความลึกถึง 1,500 เมตรใต้ก้อนน้ำแข็งหนา มีการล่านาร์วาลมากว่า 1,000 ปีโดยชาวอินูอิตในภาคเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์สำหรับเนื้อและงา รวมถึงล่าเพื่อการยังชีพแบบควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ประชากรต่างถือว่าพวกมันตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีช่วงที่แคบและอดอาหาร


41. ปลาแองเกลอร์ (The Angler Fish)


       ปลาแองเกลอร์ มีมากกว่า 200 สปีชีส์ พวกมันมีสีเทาเข้มจนถึงสีน้ำตาลเข้ม มีหัวใหญ่ฟันคมโปร่งแสง อยู่ในน้ำลึกมากกว่า 1 ไมล์ (ประมาณ 1.6 กิโลเมตร) แต่ก็มีบางชนิดที่สามารถพบในน้ำตื้นได้ ตัวมันมีความยาวได้ถึง 1 เมตร  อาศัยอยู่ก้นทะเลลึกที่โดดเดี่ยวและมืดมิด ส่วนใหญ่พบบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแอนตาร์กติก ปลาแองเกลอร์ตัวเมียจะมีสีสันและรูปร่างที่ น่าเกลียดน่ากลัว แตกต่างกันไป มีจุดเด่นตรงที่ตัวเมียจะมีชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังยื่นออกมาบริเวณหัวเหนือปากของมันเหมือนเบ็ดตกปลา ปลายของเบ็ดจะมีเนื้อเยื่อเรืองแสงได้ด้วยแบคทีเรียใช้สำหรับล่อเหยื่อเพื่อเป็นอาหาร พอเหยื่อเข้ามาใกล้ก็จะงับ นอกจากนี้มันยังมีฟันหน้าที่แทงกลับหลังเข้าไปภายในปากและยังมีฟันอีกชุดหนึ่งอยู่ในลำคอ เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อหลบหนี ส่วนปลาแองเกลอร์ตัวผู้นั้นจะมีขนาดเล็กมาก โดยเมื่อเทียบกับตัวเมียแล้วมันจะดูเหมือนลูกปลาเลยทีเดียวปลา ไม่มีสายล่อเหยื่อ สิ่งที่พวกมันสนใจมีเพียงแค่การหาคู่ ไม่ใช่การล่าเหยื่อ


42. ผีเสื้อทะเล (Sea Butterfly)


       ผีเสื้อทะเล เป็นสัตว์ในกลุ่มทากทะเล แต่สิ่งที่ให้พวกมันดูแปลกตาที่สุดก็คือ พวกมันเหมือนหอยที่มีปีก โบยบินอยู่ในทะเล สายพันธุ์ที่อยู่ในน้ำเย็นบริเวณอาร์ติกจะมีขนาดเปลือกใหญ่ได้ถึง 15 มิลลิเมตร แต่พวกในเขตน้ำอุ่นจะมีขนาดเปลือกประมาณ 1-3 มิลลิเมตรเท่านั้น พวกมันจะต้องกระพือปีกตลอดเวลา เนื่องจากเปลือกที่หนักจะทำให้พวกมันจมสู่ก้นทะเลได้ กินแพลงก์ตอน แบคทีเรีย ครัสเตเชียขนาดเล็ก ตัวอ่อนหอยทากเป็นอาหาร โดยการปล่อยใยเมือกที่อาจจะยาวได้ถึง 5 เซ็นติเมตร ใช้จับเหยื่อ


43. นางฟ้าทะเล (Sea Angel)


       นางฟ้าทะเล ถือเป็นหอยฝาเดี่ยวที่ไม่มีเปลือก มีลำตัวใส มีอวัยวะเล็ก ๆ คล้ายปีกอยู่สองข้าง ใช้สำหรับกระพือขึ้นลงเคลื่อนไหวในน้ำเป็นจังหวะ ดูแล้วคล้ายกับนางฟ้าในนิทาน อันเป็นที่มาของชื่อ นางฟ้าทะเล นางฟ้าทะเลจะพบในบริเวณที่เป็นน้ำเย็นจัดแถบขั้วโลกเท่านั้น ทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ กินหอยฝาเดียวที่มีเปลือกแต่ว่ายน้ำได้เช่นเดียวกันคือ ผีเสื้อทะเล เป็นอาหาร การจู่โจมเข้าใส่เพื่อล่าเหยื่ออย่างรวดเร็วมาก ผิดกับสภาพการดำรงชีวิตปกติที่ดูเชื่องช้า นางฟ้าทะเลมีรายงานว่าสามารถมีชีวิตได้ด้วยการกินอาหารเพียงครั้งเดียว สามารถอดอาหารได้นานถึงเกือบ 1 ปี เพราะสามารถเก็บสำรองพลังงานจำนวนมากไว้ในตัว เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ต่ำมาก เนื่องจากอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ


44. แมงกะพรุนยักษ์โนมูระ (Nomura's Jellyfish)


       แมงกะพรุนโนะมุระ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมงกะพรุนชนิดหนึ่ง จัดเป็นแมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก แมงกะพรุนโนะมุระ แพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในน่านน่้ำญี่ปุ่น ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีประมาณ 2 หมื่นล้านตัว มากกว่าประชากรมนุษย์บนโลกถึง 3 เท่า แมงกะพรุนโนะมุระขนาดใหญ่สุดมีน้ำหนักได้มากถึง 450 ปอนด์ และมีเส้นรอบวงประมาณ 12 ฟุต จากการศึกษาพบว่า เมื่อผ่าตัวหรือจับขึ้นมาแล้ว แมงกะพรุนโนะมุระตัวเมียจะปล่อยไข่หลายล้านฟอง และตัวผู้ก็มีสเปิร์มหลายล้านตัว เมื่อถูกจู่โจมไข่และสเปิร์มจะถูกปฏิสนธิทันที ไข่ที่สุกแล้วจะจมลงไปสู่พื้นทะเลเพื่อรอการเจริญเติบโตไป โดยสามารถอยู่รอดได้หลายปีหรือแม้กระทั้งหลาย 10 ปี จนกระทั่งถูกภาวะบางประการกระตุ้น แมงกะพรุนตัวอ่อนจะลอยตัวขึ้นมาสู่ท้องทะเลทันที โดยภาวะที่ไปกระตุ้นให้แมงกะพรุนเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างน่าตกตะลึงนั้น เชื่อว่าเป็นผลมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำที่มีมลพิษ ที่ส่งผลให้แพลงก์ตอนต่าง ๆ มีธาตุอาหารมากขึ้น ซึ่งก็เป็นอาหารของแมงกะพรุนด้วย ตลอดจนสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป


45. ปลา Sarcastic Fringehead


       Sarcastic Fringehead เป็นปลาหน้าตาประหลาดที่ค่อนข้างดุร้ายและมีนิสัยหวงถิ่น เมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 30 เซ็นติเมตร มีครีบหน้าอกขนาดใหญ่ และมีปากที่สามารถอ้าได้กว้างมาก เมื่อเกิดการต่อสู้กันพวกมันจะอ้าปากประกบกันเพื่อวัดพลังและขนาดของปาก อาหารของมันคือกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ขนาดเล็กกว่าปากของมัน มีถิ่นกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกแถบทวีปอเมริกาเหนือ มักอาศัยอยู่ในซากเปลือกหอยหรือตามร่องหิน ที่ระดับความลึก 3-73 เมตร


46. ปลาตีนสีชมพู (Pink Handfish)


       ปลาตีนสีชมพู เป็นสัตว์สปีชีย์ใหม่ที่หายาก พึ่งค้นพบเมื่อปี 2010 มันสามารถใช้ครีบในการเดินและเคลื่อนไหวบนพื้นทะเล ปลาตีนสีชมพูมีความยาวเพียง 10 เซนติเมตร พบที่เมืองโฮบาร์ต บนเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย


47. ฉลามพรม (Carpet Shark)


       ฉลามพรม เป็นปลาฉลามที่มีจุดด่างดำบนตัวของมัน รูปร่างแบนเหมือนกับพรม พวกมันถูกพบได้ในมหาสมุทรทั่วโลก แต่พบมากในอินโดแปซิฟิกและภูมิภาคออสเตรเลีย ฉลามพรมส่วนใหญ่จะกินหอย ปลาและกุ้งเป็นอาหาร


48. Lancet Fish


       Lancet Fish เชื่อกันว่าเป็นปลาที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับไดโนเสาร์ มีครีบหลังขนาดใหญ่และเขี้ยวที่แหลมคม สามารถโตเต็มที่ได้ขึ้นถึง 2 เมตร น้อยมากที่จะมีใครรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของพวกมันแม้ว่าพวกมันจะกระจายกันอย่างแพร่หลายในมหาสมุทรทั่วโลก ยกเว้นทะเลขั้วโลก พวกมันอาศัยทะเลลึกถึง 1,000 เมตร ในเขตร้อน หากินในตอนกลางคืนโดยกินปลา กุ้ง หมึกเป็นอาหาร


49. ปลาฉลามเมกาเมาท์ (Megamouth Shark)


       ปลาฉลามเมกาเมาท์ เป็นปลาฉลามน้ำลึกขนาดใหญ่ที่พบได้ยากมาก หลังจากพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1976 จากการติดกับสมอของเรือรบ AFB 14 ของกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อกว้านขึ้นมา พบเป็นซากปลาฉลามขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครรู้จักเหมือนสัตว์ประหลาดขนาดความยาวประมาณ 4.5 เมตร น้ำหนักราว 3-4 ตัน มีจุดเด่น คือ ปากที่กว้างใหญ่มากและฟันซี่แหลม ๆ เหมือนเข็มอยู่ทั้งหมด 7 แถว ซึ่งมีความยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร นักวิทยาศาสตร์เมื่อได้ศึกษาแล้วพบว่าเป็นปลาชนิดใหม่ และมีจุดที่แตกต่างไปจากปลาฉลามทั่วไป ปัจจุบันเป็นปลาที่ยังพบได้น้อย โดยมีรายงานการพบเห็นและเก็บตัวอย่าง 39 ครั้ง และมีการบันทึกภาพไว้ได้ 3 ครั้งโดย 1 ใน 3 ของการพบตัวอย่างปรากฏในเขตน่านน้ำญี่ปุ่น ปลาฉลามชนิดนี้กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารเหมือนปลาฉลามบาสกิ้น และปลาฉลามวาฬ โดยมีปากกว้างใหญ่เพื่อกลืนเอาน้ำเข้าไปมาก ๆ แล้วกรองน้ำออกให้เหลือแต่แพลงก์ตอนและแมงกะพรุน ส่วนหัวขนาดใหญ่และริมฝีปากเป็นผิวหนังเหนียวจัดเป็นลักษณะเด่นของปลาฉลามชนิดนี้


50. ฉลามครุย (Frilled Shark)


       ปลาฉลามครุย เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างประหลาดมากคล้ายปลาไหล อาศัยอยู่ในน้ำลึก 1,968 - 3,280 ฟุต เดิมเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มีรายงานพบในหลายพื้นที่ รวมถึงในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น ทำให้ปลาฉลามครุยกลายเป็น "ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต" อีกชนิดหนึ่งของโลก เพราะเชื่อว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะเลยมาตั้งแต่ยุคครีเทเชียส จนกระทั่งถึงปัจจุบัน บริเวณส่วนหัว ลักษณะฟันและปาก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2007 ปลาฉลามชนิดนี้ได้สร้างความฮือฮากลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งโลก เมื่อชาวประมงชาวญี่ปุ่นสามารถจับตัวอย่างที่ยังมีชีวิตได้ตัวหนึ่งในเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งใกล้สวนน้ำอะวาชิมา ในเมืองชิซุโอะกะทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งเชื่อว่าปลาตัวนี้ลอยขึ้นมาเพราะร่างกายอ่อนแอเนื่องจากความร้อนที่ขึ้นสูงของอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็ตายไป เชื่อว่าปลาฉลามชนิดนี้ กระจายพันธุ์อยู่ในเขตน้ำลึกใกล้นอร์เวย์, แอฟริกาใต้, นิวซีแลนด์, ชิลี และญี่ปุ่น มีรูปร่างเรียวยาวคลายปลาไหลหรืองูทะเล มีผิวสีน้ำตาลหรือเทาเข้ม มีซี่กรองเหงือก 6 คู่ สีแดงสด และฟูกางออกเหมือนซาลาแมนเดอร์บางชนิด ทำให้ดูแลเหมือนครุย ซึ่งมีไว้สำหรับดูดซับออกซิเจนโดยเฉพาะ เนื่องจากในทะเลลึกมีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าด้านบนถึงกว่าครึ่ง ปากกว้างเลยตำแหน่งของตา ภายในปากมีฟันที่แตกเป็นดอกแหลม ๆ 3 แฉก ทำให้สันนิษฐานว่าเป็นปลาที่ล่าปลาเล็กเป็นอาหารที่เก่งฉกาจชนิดหนึ่ง ความยาวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 6.5 ฟุต



ข้อมูลและรูปภาพ : google, wikipedia 
เรียบเรียงโดย : lokmedee