10 อันดับ ผู้นำประเทศที่มีรายได้สูงสุดในโลก 2015


       ผลการจัดอันดับดังกล่าวมาจากเว็บไซต์การตลาด marketingoops.com ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างประเทศชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น The Guardian, CNN, Business, Inside หรือ Chaina Daily ว่าใครเป็นผู้นำประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงที่สุดในโลกในปี 2015 และจากข้อมูลดังกล่าวก็ทำให้เราทราบว่า ผู้นำคนไหน ประเทศอะไร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเท่าไรกันบ้าง ไปดูกันเลยโดยเริ่มจากคนแรก



อันดับ 1 นายลี เซียนลุง (Lee Hsieng Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (1,700,000 U.S.dollars)


       นายลี เซียนลุง (Lee Hsieng Loong) คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและคนที่ 3 ของประเทศสิงคโปร์ เขาเป็นบุตรชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู และมีภรรยาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ นายลี เซียนลุง ฉายแววความฉลาด มาตั้งแต่ ยังเล็ก โดยสามารถพูด ภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ ภาษาจีนแมนดาริน ภาษารัสเซีย ได้ ในขณะที่มีอายุเพียง 10 ปี พอจบชั้นมัธยม ก็ได้รับทุนจาก รัฐบาล ไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในสาขาคณิตศาสตร์ และจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 หลังจากนั้น นายลี ก็ไปต่อโทที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ลี เซียนลุง นั้นมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ในตอนสมัครเข้าเป็น ส.ส. ในปี พ.ศ. 2527 และยืนอยู่ในวงการเมืองมามากกว่า 20 ปี ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ คนที่ 3 ต่อจาก โก๊ะ จ๊กตง ที่อยู่ตำแหน่งนายกมา 14 ปี ซึ่งจากผลการจัดอันดับนั้น นายลี เซียนลุง ติดอันดับ 1 ผู้นำประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด ซึ่งสูงถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 60 ล้านบาทต่อปี


อันดับ 2 นายบารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (400,000 U.S.dollors)


       นายบารัค โอบามา (Barack Obama) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 คนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา เป็นหนุ่มลูกครึ่งอเมริกันกับเคนยา และเป็นนักการเมืองผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ก่อนหน้านี้โอบามาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ ใน ค.ศ. 2005 จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 กระทั่งลาออกจากตำแหน่งหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008 โอบามา เกิดในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ที่ซึ่งเขาได้เป็นประธานวารสาร Harvard Law Review เขาเคยเป็นผู้จัดการชุมชนในชิคาโกก่อนสำเร็จปริญญาด้านกฎหมาย เขาทำงานเป็นอัยการสิทธิมนุษยชนในชิคาโกและสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยชิคาโกตั้งแต่ ค.ศ. 1992 - 2004 เป็นผู้แทนเขต 13 สามสมัยในรัฐสภาอิลลินอยส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 - 2004 หลังไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในนามของพรรคเดโมแครตใน ค.ศ. 2000 โอบามาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐใน ค.ศ. 2004 หลายเหตุการณ์ได้นำเขาไปสู่ความสนใจในระดับชาติระหว่างการรณรงค์หาเสียง รวมทั้งชัยชนะของเขาในการคัดเลือกผู้แทนพรรคเดโมแครตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2004 และคำปราศรัยสำคัญระหว่างการประชุมตัวแทนพรรคเดโมแครตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2004 เขาชนะการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 การรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 และหลังการรณรงค์ระยะสั้น ๆ ในการคัดเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐพรรคเดโมแครต ค.ศ. 2008 แข่งกับฮิลลารี คลินตัน เขาได้รับการเสนอชื่อจากพรรค ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2008 เขาเอาชนะผู้สมัครจอห์น แมกเคน จากพรรครีพับลิกัน และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2009 หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำ ค.ศ. 2009 นายบารัค โอบามา มีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 400,000 ดอลลาร์ หรือราว 14.2 ล้านบาท ซึ่งมีน้อยกว่า นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ถึง 5 เท่า 


อันดับที่ 3 นายสตีเฟน โจเซฟ ฮาร์เปอร์ (Stephen Joseph Harper) นายกรัฐมนตรีแคนาดา (260,000 U.S.dollars)


       สตีเฟน โจเซฟ ฮาร์เปอร์ (Stephen Joseph Harper) เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดาคนปัจจุบันและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแห่งแคนาดา เขานำพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2549 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551 จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และการชนะการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้เขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ นายสตีเฟน โจเซฟ ฮาร์เปอร์ มีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 260,000 ดอลลาร์ หรือราว 9.2 ล้านบาท


อันดับที่ 4 นางอังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (Angela Dorothea Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (234,400 U.S.dollars)


       นางอังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (Angela Dorothea Merkel) คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศเยอรมนี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งสู่รัฐสภาเยอรมันจากรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น เป็นประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน(CDU) ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2543 และเป็นประธานกลุ่มพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน-สหภาพสังคมคริสเตียนในรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึง พ.ศ. 2548 นอกจากนั้น นางแมร์เคิล ยังเป็นผู้นำรัฐบาลผสมกับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) และพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (SPD) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังภายจากการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นางแมร์เคิลชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยมีพรรคประชาธิปไตยเสรี (เยอรมนี) (FDP) เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมีพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (SPD) เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นครั้งที่ 2 ของรัฐบาลนี้และครั้งที่ 3 ในการเมืองเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2550 นางแมร์เคิลยังดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปและประธานกลุ่มประเทศจีแปด นอกจากนั้นนางดำเนินบทบาทในการเจรจาสนธิสัญญาลิสบอนและปฏิญญาเบอร์ลินอีกด้วย ด้านนโยบายภายในประเทศ เรื่องของการปฏิรูปเรื่องการดูแลสุขภาพและปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานในอนาคตนับเป็นเรื่องใหญ่ในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนาง นางแมร์เคิลเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนี นางได้รับการเลือกจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นสตรีที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2550 นางแมร์เคิลยังเป็นสตรีคนที่สองในการเป็นประธานกลุ่มประเทศจีแปดต่อจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์อีกด้วย ในปี พ.ศ. 2551 นางแมร์เคิลได้รับรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne) "สำหรับการทำงานเพื่อปฏิรูปสหภาพยุโรป" จากประธานาธิบดีนีกอลา ซาร์กอซีแห่งฝรั่งเศส และจากผลการจัดอันดับ นางแมร์เคิล มีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 234,400 ดอลลาร์ หรือราว 8.3 ล้านบาท ซึ่งอยู่อันดับที่ 4 


อันดับ 5 นายจาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (223,500 U.S.dollars)


       นายจาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) เป็นประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ซึ่งได้รับเลือกโดยรัฐสภาหลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2552 และทำพิธีดำรงตำแหน่งในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เขาเป็นประธานพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress: ANC) ซึ่งเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมาก และเคยเป็นรองประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2548 ซูมายังถูกเรียกด้วยตัวอักษรย่อของเขา JZ และชื่อในเผ่าของเขา มโชโลซี (Msholozi) ซูมาได้เป็นประธานของ ANC เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังจากเอาชนะธาโบ มเบกิ ซึ่งดำรงตำแหน่งในเวลานั้น ในงานประชุมประจำปีชอง ANC ที่เมืองโพโลเควน (Polokwane) ซูมาเผชิญอุปสรรคด้านกฎหมายที่สำคัญหลายอย่าง เขาถูกตั้งข้อหาข่มขืนในปี พ.ศ. 2548 แต่ได้รับการพิพากษาให้พ้นผิดในเวลาต่อมา นอกจากนั้น เขายังต้องต่อสู้ข้อกล่าวหาด้านการกรรโชกทรัพย์ และฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างยาวนาน หลังจากที่ปรึกษาทางการเงินของเขา ชาเบียร์ ชาอิค (Shabir Shaik) ถูกพิพากษาว่าผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงและฉ้อโกง ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552 ข้อหาทุกอย่างที่กล่าวโทษซูมาถูกยกฟ้องไป และจากผลการจัดอันดับ นายซูมามีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 223,500 ดอลลาร์ หรือราว 7.96 ล้านบาท


อันดับ 6 นายเดวิด แคเมอรอน (David Cameron) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (214,800 U.S.dollars)


       นายเดวิด แคเมอรอน (David Cameron) เป็นนักการเมืองชาวอังกฤษ อีกทั้งเดวิดยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 53 คนปัจจุบันแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และเป็นหัวหน้าพรรค พรรคอนุรักษนิยม (สหราชอาณาจักร) (Conservative Party) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำเขต Witney ใน Oxfordshire ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 แคเมอรอนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชา ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics and Economics หรือชื่อย่อ PPE) จาก Brasenose College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด จากนั้นเขาได้เข้าร่วมทีมวิจัยของพรรคอนุรักษนิยมและเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับนอร์แมน ลามองต์และไมเคิล ฮาเวิร์ด เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการองค์กรในบริษัทสื่อ ที่ชื่อคาร์ลตันคอมมูนิเคชันส์เป็นเวลา 7 ปี เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาสามัญชนในสแตฟฟอร์ด ในปี ค.ศ. 1997 แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญชนเขตวิตนีย์ในออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ต่อมาในปลายปี ค.ศ. 2005 ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม หลังการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2553 โดยพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนสูงสุด ทำให้คาแมรอนขึ้นนำเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) เดวิด แคเมอรอน มีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 214,800 ดอลลาร์ หรือราว 7.65 ล้านบาท


อับดับ 7 นายชินโซ อะเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (202,700 U.S.dollars)


       นายชินโซ อะเบะ (Shinzo Abe) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 90 ของประเทศญี่ปุ่น อะเบะเกิดที่เมืองนะงะโตะ จังหวัดยะมะงุชิ และได้ศึกษาด้านรัฐศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยเซเก และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา ภายหลังจบการศึกษา ได้ทำงานกับบริษัท โกเบสตีล และได้ลาออกในปี 2525 เพื่อเข้ามาเล่นการเมือง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 นายอะเบะได้ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเขาและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้ลาออกพร้อมกันในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตามนายอะเบะก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ก่อนครบวาระตำแหน่ง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 ธันวาคม 2557 รายได้เฉลี่ยต่อปีของนายอะเบะอยู่ที่ 202,700 ดอลลาร์ หรือราว 7.22 ล้านบาท


อันดับ 8 นายฟร็องซัว ออล็องด์ (François Hollande) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส (194,300 U.S.dollars)


       นายฟร็องซัว ออล็องด์ (François Hollande) คือประธานาธิบดีคนที่ 24 ของฝรั่งเศส ออล็องด์ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 ด้วยคะแนนเสียงประมาณร้อยละ 51.90 เขาเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งที่ 1 ของจังหวัดกอแรซในช่วงปี ค.ศ. 1988 - 1993 และ ค.ศ. 1997 ถึงปัจจุบัน เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมในช่วงปี ค.ศ. 1997 - 2008 เป็นประธานสภาเทศบาลกอแรซตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 รวมถึงเป็นนายกเทศมนตรีเมืองตูลในช่วงปี ค.ศ. 2001 - 2008 อีกด้วย และจากผลการจัดอันดับรายได้เฉลี่ยต่อปีของนายออล็องด์อยู่ที่ 194,300 ดอลลาร์ หรือราว 6.92 ล้านบาท


อันดับ 9 นายวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย (136,000 U.S.dollars)


       นายวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) เป็นนักการเมืองรัสเซียผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียคนที่ 4 และคนปัจจุบัน เช่นเดียวกับประธานพรรคยูไนเต็ดรัสเซียและประธานสภารัฐมนตรีสหภาพรัสเซียและเบลารุส เขารักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เมื่อประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินลาออกจากตำแหน่งในการเคลื่อนไหวอันน่าประหลาดใจ ปูตินชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2543 และใน พ.ศ. 2547 เขาได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เพราะถูกจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ปูตินจึงไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 หลังชัยชนะของผู้สืบทอดเขา ดมีตรี เมดเวเดฟ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2551 เมดเวเดฟได้เสนอชื่อ ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ปูตินดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ปูตินและเมดเวเดฟตกลงกันว่า ปูตินจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ไม่ติดต่อกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย พ.ศ. 2555 ซึ่งเขาชนะรอบแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปูตินได้รับชื่อเสียงว่านำพาเสถียรภาพทางการเมือง ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตขึ้น 9 ปีต่อเนื่อง โดยเห็นจีดีพีเพิ่มขึ้น 72% โดยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (6 เท่าในราคาตลาด) ความยากจนลดลงมากกว่า 50% และค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 80 เป็น 640 ดอลลาร์สหรัฐ ความสำเร็จนี้คาดว่ามาจากการจัดการเศรษฐกิจมหภาค การปฏิรูปนโยบายการคลังอย่างสำคัญและประจวบกับราคาน้ำมันที่สูง การไหลบ่าเข้ามาของทุนและการเข้าถึงเงินทุนภายนอกราคาถูกเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งนักวิเคราะห์อธิบายว่า น่าประทับใจ และจากผลการจัดอันดับรายได้เฉลี่ยต่อปีของนายปูตินอยู่ที่ 136,000 ดอลลาร์ หรือราว 4.84 ล้านบาท


อันดับ 10 นายมัตเตโอ เรนซี่ (Matteo Renzi) นายกรัฐมนตรีอิตาลี (124,600 U.S.dollars)


       นายมัตเตโอ เรนซี่ (Matteo Renzi) นายกรัฐมนตรีหนุ่มไฟแรงประเทศอิตาลี ที่สามารถก้าวกระโดดบนเส้นทางการเมือง จากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ สู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด (39 ปี) ในประวัติศาสตร์ของอิตาลีได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดย นายจอร์โจ นาโปลีตาโน ประธานาธิบดีของอิตาลี ได้แต่งตั้งนายมัตเตโอ เรนซี นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว หลังจากที่นายเอ็นริโก เลตตา ลาออกจากตำแหน่งไป เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ เรนซีชนะการเลือกตั้งภายในและได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันเมื่อเดือนธ.ค.ปี 2556 และกลายเป็นจุดสนใจของประชาชนนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมองว่าเรนซีมีบุคลิกไม่ต่างจากรุ่นพี่ในโรงเรียน เนื่องจากเป็นนักการเมืองที่มีอายุน้อยมาก และไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในคณะรัฐบาลกลางและแวดวงการเมืองระดับประเทศมาก่อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นกันเป็นว่าเล่น และจากผลการจัดอันดับผู้นำประเทศที่มีรายได้สูง เรนซี่ได้ครองอันดับที่ 10 ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 124,600 ดอลลาร์ หรือราว 4.44 ล้านบาท



ข้อมูลและรูปภาพ : google, marketingoops, wikipedia
เรียบเรียงโดย : lokmedee